เครือข่ายวนเกษตรเตรียมทำระบบมาตรฐานชุมชนรับรอง

เครือข่ายวนเกษตรเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตที่รวมตัวกันเพื่อทำงานสนับสนุนและส่งเสริมระบบวนเกษตรในประเทศไทย ซึ่งมีมูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม ทำหน้าที่ช่วยเป็นองค์กรประสานงานอยู่

แม้ว่าเครือข่ายวนเกษตรจะตั้งมานานหลายสิบปี และมีสมาชิกกระจายอยู่ในหลายจังหวัดภาคตะวันออก แต่ที่ผ่านมา เครือข่ายได้เพียงทำหน้าที่ในการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ต่างๆ (รวมทั้งพรรณไม้) ในการทำวนเกษตร รวมทั้งการสนับสนุนให้สมาชิกได้แปรรูปผลผลิตของตัวเองเป็นอาหาร ยาสมุนไพร และสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่างๆ (เช่น สบู่ แชมพู) ซึ่งสมาชิกก็จะจำหน่ายผลผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดหน้าสวนวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (หมู่ 1 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขตจ จังหวัดฉะเชิงเทรา) หรือขายส่งให้กับร้านค้าอื่นๆ รวมทั้งการรวมกันขายเมื่อมีการจัดงานแสดงสินค้าที่ทางเครือข่ายได้รับเชิญไปให้เข้าร่วม

เครือข่ายวนเกษตรได้เริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกรีนเนทเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำมาตรฐานวนเกษตรของกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งทางกรีนเนทได้เสนอทางเลือกทั้งในระบบทั่วไป (เช่น ขอรับรองจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) หรือการทำระบบชุมชนรับรอง โดยได้แจกแจงข้อดีข้อเสียของทั้งสองระบบให้เครือข่ายวนเกษตรได้รับทราบ  หลังจากผ่านการพิจารณามาระยะหนึ่ง ทางเครือข่ายวนเกษตรจึงได้ตัดสินใจพัฒนาระบบมาตรฐานวนเกษตรแบบชุมชนรับรองขึ้นมาเอง โดยทีมเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน (กรีนเนท) ได้เริ่มจัดกระบวนการปรึกษาหารือเชิงปฏิบัติการให้กับตัวแทนเครือข่ายวนเกษตรเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันกำหนดตัดสินใจ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานวยวนเกษตรต่อไป อาทิเช่น

สำหรับเครือข่ายวนเกษตร “วนเกษตร” ไม่ได้หมายถึง การทำเกษตรโดยอาศัยหลักเกื้อกูลกันของป่าธรรมชาติ ที่มีพืชต่างระดับ (โดยทั่วไปมักจะกล่าวถึง “พืช 7 ระดับ”) อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล แต่เครือข่ายวนเกษตรได้ตีความหมายรวมไปถึงพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่ทำในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป้าประสงค์ในการ “มีกิน มีใช้ และมีหลักประกัน” เช่น พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวรอบบ้าน นาข้าวที่ปลูกข้าวไว้บริโภค (และขายผลผลิตส่วนเกิน เมื่อเหลือ)

ส่วนพื้นที่ “ป่า” ที่ต้องมีไม่น้อยกว่า 15% (ตัวเลขนี้อาจปรับเพื่มหรือลดลงเมื่อมีการพัฒนามาตรฐานจริง) โดยในพื้นที่ป่านี้จะต้องมีไม้ยืนต้นที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นอาหาร ยาสมุนไพร (“มีกิน”)  ใช้ประโยชน์ต่างๆ (“มีใช้”) และเป็นที่ออมเงินสำหรับยามฉุกเฉินและเมื่อมีอายุมากขึ้น (“มีหลักประกัน”)

โดยความหลากหลายนี้ ทางเครือข่ายวนเกษตรยอมรับความหลากหลายของชนิดพืชที่ควรจะมีขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 ชนิดเป็นการเริ่มต้น และภายใน 3 ปีของการทำวนเกษตร (สำหรับสมาชิกใหม่ที่ต้องการเข้าร่วม) จะต้องพัฒนาให้มีความหลากหลายของชนิดพืชไม่น้อยกว่า 100 ชนิด

นอกจากนี้ เครือข่ายยังต้องการกระตุ้นให้สมาชิกต้องมีวิถีปฏิบัติที่พึ่งต้วเองจริงๆ จึงต้องการให้มีข้อกำหนดมาตรฐานให้สมาชิกต้องสามารถบริโภคอาหารที่ผลิตได้จากฟาร์มเกษตรของตัวเองเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าแค่มีพื้นที่การเกษตรที่ปลูกพืชอาหารอย่างหลากหลาย แต่ก็ยังบริโภคอาหารที่ซื้อมาจากภายนอกเป็นหลัก

ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินจะได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายวนเกษตรเพื่อพัฒนามาตรฐานวนเกษตรนี้ รวมทั้งช่วยเครือข่ายในการจัดตั้งระบบการตรวจรับรอง ตามระบบชุมชนรับรองต่อไป