เครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+
หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในระบบชุมชนรับรองในประเทศไทยได้ร่วมประชุมกันที่สำนักงานกรีนเนทเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556 และมีมติร่วมกันจัดตั้งเป็น “เครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการประสานและสนับสนุนกิจกรรมชุมชนรับรอง (participatory guarantee system – PGS) สำหรับเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย โดยหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ ประกอบด้วยร้านเลม่อนฟาร์ม, เครือข่ายเมล็ดพันธุ์เกษตรอินทรีย์ กรีนเนท, โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า กรีนเนท เอสอี, เครือข่ายวนเกษตร, สหกรณ์กรีนเนท และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ซึ่งรวมกันแล้วมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ PGS เกือบ 150 ครอบครัว 6 จังหวัดของภาคเหนือ กลาง และอีสาน

ชื่อ “เกษตรอินทรีย์+” (อ่าน “เกษตรอินทรีย์พลัส”) นี้ถูกเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่า ระบบ PGS ในเครือข่ายนี้มีจุดร่วมกันที่เป็นไปตามหลักการเกษตรอินทรีย์สากล (คือ นิเวศ, สุขภาพ, เป็นธรรม, ดูแลเอาใจใส่) กลุ่มผู้ผลิตอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมจากหลักการเกษตรอินทรีย์นี้  ยกตัวอย่างเช่น ระบบ PGS ของโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่ามีข้อกำหนดให้เกษตรกรสมาชิกต้องมีมาตรการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นและการปลูกพืชหลายระดับชั้น ที่เป็นจำลองสภาพป่าธรรมชาติในแปลงกาแฟ  หรือระบบ PGS ของเครือข่ายวนเกษตรมีข้อกำหนดให้เกษตรกรสมาชิกต้องมีพื้นที่วนเกษตร ที่ปลูกพืชสำหรับ “กิน-ใช้สอย-สร้างหลักประกัน” รวมทั้งต้องมีชนิดพืชไม่น้อยกว่า 100 ชนิดด้วย  ดังนั้น สมาชิกของเครือข่ายจึงไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นไปตามหลักการเกษตรอินทรีย์ แต่ยังมีข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าของการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม

แต่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของระบบ กลุ่มผู้ผลิตสมาชิกเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ จะได้รับการตรวจเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง และ/หรือจากกลุ่มผู้ผลิตอื่น เพื่อประเมินมาตรฐานและประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลของการจัดทำระบบชุมชนรับรองของแต่ละกลุ่มทุกๆ 2 ปี ซึ่งทางเครือข่ายมีแผนว่า อาจมีการพิจารณาออกตรากลางเกษตรอินทรีย์ PGS ร่วมกันในอนาคต

ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้รับมอบหมายจากเครือข่ายให้ช่วยทำหน้าที่เป็นจุดประสานงานเป็นการเริ่มต้นไปก่อน รวมทั้งพัฒนาระบบและกลไกต่างๆ ตลอดจนแผนการฝึกอบรมการรับรองเกษตรอินทรีย์ PGS สำหรับสมาชิกเครือข่ายและหน่วยงานภายนอกที่อาจสนใจต่อไป

กลุ่มผู้ผลิตและหน่วยงานในเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ ที่ได้ทำระบบชุมชนรับรองแล้ว ได้แก่

(ก) ชมรมเกษตรอินทรีย์เกาะพะงัน [สิงหาคม 2554]
เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักและผลไม้บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ “เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์” โดยทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษา โดยได้จัดทำระบบชุมชนรับรอง เพื่อตรวจรับรองเกษตรกร 24 ฟาร์ม รวมพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่า 177 ไร่ รวมทั้งได้พัฒนาการรับรองเมนูอาหาร 9 เมนู เช่น ข้าวผัดและข้าวราดผักบุ้งออร์แกนิค ส้มตำออร์แกนิค รวมทั้งเครื่องดื่มน้ำผลไม้ปั่นออร์แกนิค และชาออร์แกนิค อีกด้วย

(ข) กลุ่มสว่างโบราณ [มีนาคม 2555]
เป็นกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รวมตัวกันเพื่อทอผ้าไหมเกษตรอินทรีย์ ย้อมสีธรรมชาติ และทำการค้าในระบบแฟร์เทรด โดยได้เริ่มจากการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดของกลุ่มตั้งแต่เมื่อปี 2553 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การย้อมสีธรรมชาติ และการทอผ้าไหม และได้เริ่มนำระบบชุมชนรับรองมาตรวจรับรองสมาชิกในปี 2555

(ค) โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ.กรีนเนท เอสอี จำกัด [มิถุนายน 2555]
เป็นโครงการส่งเสริมเกษตรกรในเขตพื้นที่สูง บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ในภาคเหนือของประเทศไทย ในการปลูกกาแฟอินทรีย์และการอนุรักษ์ป่าไปควบคู่กัน โครงการเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับกลุ่มเกษตรกรในเขตอำเภอแม่สรวจและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งโครงการนี้ได้รับการประเมินและได้ประกาศนียบัตรจากเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ เป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 (เกษตรกร 147 ครอบครัว พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1826.5 ไร่)

(ง) เครือข่ายวนเกษตร [เมษายน 2556]
เครือข่ายวนเกษตรได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำมาตรฐานวนเกษตรของกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2555 และได้ตัดสินใจที่จะทำระบบชุมชนรับรองในช่วงต้นปี 2556 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยมาตรฐานข้อกำหนดของความเป็น “วนเกษตร” ที่ไม่ใช่แค่เพียงการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังต้องเป็นไปตามหลักการของ “มีกิน มีใช้ และมีหลักประกัน”

 

เครือข่ายฯ ให้บริการสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตและหน่วยงานที่สนใจนำระบบชุมชนรับรองไปใช้

  • การออกแบบระบบชุมชนรับรองทั้งระบบ
  • การพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกษตรอินทรีย์ของ IFOAM
  • การออกแบบระบบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • การฝึกอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในการจัดทำระบบชุมชนรับรอง
  • การประเมินระบบชุมชนรับรอง ตามเกณฑ์ของ IFOAM และการออกประกาศนียบัตร
  • การใช้ตรารับรอง PGS เกษตรอินทรีย์ระดับประเทศ (ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา)
  • การเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานในต่างประเทศที่ทำงานเกี่ยวกับ PGS