เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา จ.เชียงใหม่ : เครือข่ายกรีนเนท

ระบบการเกษตรที่แม่ทาโดยทั่วไปประกอบด้วยการปลูกข้าวเหนียวในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ลุ่มสำหรับบริโภคในครัวเรือน และปลูกพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มไม้ผลยืนต้นผสมผสาน ที่ไม่ต้องการการดูแลมาก เช่น กล้วย ลำไย มะม่วง มะขาม ขนุน  ในระยะแรกเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งเป็นพืชพาณิชย์ที่สำคัญที่สุดในชุมชน ข้าวโพดฝักอ่อนใช้ระยะเวลาในการปลูกสั้นมาก เพียง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งทำให้การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนมีปัญหาโรคและแมลงน้อยมาก และมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชน้อย แต่การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนต้องใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง   ในรอบปีหนึ่งๆ เกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดฝักอ่อนได้ 4-5 ครั้ง โดยการปลูกรอบแรกในช่วงต้นฤดูฝน ราวปลายเดือนเมษายนหรืออย่างช้าก็ต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นการปลูกบนพื้นที่ดอน ซึ่งสามารถปลูกได้เพียง 2-3 รุ่น (สามารถปลูกได้จนถึงเดือนตุลาคม เมื่อฝนหยุดตก) จากนั้นการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนก็จะโยกย้ายลงมาปลูกในพื้นที่ลุ่ม หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ พื้นที่ลุ่มสามารถปลูกข้าวโพดฝักอ่อนได้อีก 1-2 รุ่น นับจากเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม  แต่ปัจจุบัน มีการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่เปลี่ยนมาเป็นการปลูกผักเกษตรอินทรีย์แทน

แหล่งรายได้อื่นๆ คือ การเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะวัว ซึ่งเกษตรกรจะซื้อวัวตัวผู้มาเลี้ยงขุนให้อ้วนประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นก็ขายวัวขุนในราคาที่สูงขึ้น  เกษตรกรบางรายซื้อวัวตัวผู้ที่อายุน้อยมาเลี้ยงขุนในเวลาที่นานขึ้น ซึ่งเกษตรกรอาจใช้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ในการขนส่ง ลำเลียงผลผลิตจากฟาร์มมาที่บ้านได้ด้วย  ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 มีการเลี้ยงวัวนมในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นด้วย

ที่ตั้ง: หมู่ 5 บ้านป่านอด ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งตั้งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศใต้ราว 70 กิโลเมตร

สถานะ: กลุ่มไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่สมาชิกส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์เกษตรยั่งยืน แม่ทา จำกัด

ประวัติ:
มูลนิธิสายใยแผ่นดินและสหกรณ์กรีนเนทได้เริ่มทำงานกับกลุ่มเกษตรกรนี้ตั้งแต่ปี 2536 โดยการช่วยจัดหาตลาดให้กับเกษตรกรที่รวมตัวกันปลูกผักเกษตรอินทรีย์   ในปี 2541 มูลนิธิสายใยแผ่นดินและสหกรณ์กรีนเนท ได้ริเริ่มโครงการเกษตรอินทรีย์โดยเน้นการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง ครอบครัวและทำงานพัฒนาในชุมชน โดยใช้ชื่อ “เครือข่ายคณะกรรมการกลางแม่ทา”

ในปี 2543 กลุ่มชาวบ้านได้ริเริ่มจัดตั้งองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานที่สะดวกและสอดคล้องกับสถาณการณ์  โดยจัดตั้งเป็น “สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2543  และได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 โดยมีสมาชิกก่อตั้ง  135 ราย จากหมู่ 1 (บ้านทาม่อน) หมู่ 2 (บ้านท่าข้าม) หมู่ 3 (บ้านค้อกลาง) หมู่ 4 (บ้านห้วยทราย) หมู่ 5 (บ้านป่านอต) หมู่ 6 (บ้านดอนชัย) และหมู่ 7 (บ้านใหม่ดอนชัย)

ในปี 2561 ได้เปลี่ยนระบบการจัดการของกลุ่มใหม่ จากเดิมที่เป็นสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา มาเป็น “เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา”

กรีนเนทเริ่มทำงานกลุ่ม: กันยายน 36

สมาชิก: 20 คน พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ 213.885 ไร่ เฉลี่ย 10.69 ไร่/ครอบครัว (ข้อมูล ณ พ.ย. 62)

กิจกรรม: ผลิตพืชผัก ผลไม้ กระเจี๊ยบ โดยส่วนใหญ่ส่งขายให้กับผู้ประกอบการเองโดยตรง

แรงงาน: ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก  อาจมีการแลกเปลี่ยนแรงงานกับเพื่อนบ้านบ้างถ้าจำเป็น   ส่วนเครือข่าย ไม่มีการจ้างแรงงานประจำ

รับรองมาตรฐาน: เกษตรอินทรีย์กับ มกท. จนถึงต้นปี 2563 เปลี่ยนไปใช้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) แทน

รางวัลทางสังคม: ไม่มี

โครงการสนับสนุนจากกรีนเนท:
* ก.ค. 53 – มิ.ย. 54 โครงการสนับสนุนการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ)
* 2554 มูลนิธิสายใยแผ่นดินจัดตั้ง “ศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท เชียงใหม่” ที่บ้านป่านอด
* มี.ค. 54 – ส.ค. 56 โครงการพัฒนาและขยายผลต้นแบบการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในประเทศไทย (ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การอ๊อกแฟมและสหภาพยุโรป)
* 2557 จัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนแม่ทาออร์แกนิค”
* 2558 กองทุนแฟร์เทรดพรีเมี่ยมช่วยเหลือสมาชิกที่ผลผลิตเสียหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ