การรับรองแบบมีส่วนร่วมเกษตรอินทรีย์ในไทย

ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมเกษตรอินทรีย์ (ชุมชนรับรอง) เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดย IFOAM – Organics International และได้เริ่มทดลองนำมาใช้กับผู้ผลิตในโครงการขนาดเล็ก ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งพบว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ดี จึงได้มีพัฒนาการและขยายตัวต่อมาเรื่อยๆ

2551 มูลนิธิสายใยแผ่นดินเริ่มจัดอบรมเรื่องการรับรองแบบมีส่วนร่วมในโครงการห่วงโซ่ข้าวสำหรับกลุ่มผู้สนใจในภูมิภาคเอเชีย
2554 มูลนิธิสายใยแผ่นดินสนับสนุนให้กลุ่มปลูกผักเกษตรอินทรีย์ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานีจัดทำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม
2555 มูลนิธิสายใยแผ่นดินสนับสนุนให้กลุ่มผู้เลี้ยงไหมและทอผ้าไหมในจังหวัดขอนแก่นและกลุ่มปลูกกาแฟในจังหวัดเชียงราย จัดทำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม
2556 * มูลนิธิสายใยแผ่นดินสนับสนุนเครือข่ายวนเกษตรจัดทำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม

* องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการรับรองแบบมีส่วนร่วมได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+

* เครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ จัดทำระบบการประเมินและการติดตามสำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่จัดทำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม และได้เริ่มทำการประเมินให้กับโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าของบริษัทกรีนเนท เอสอี จำกัด

2557 กรมพัฒนาที่ดินและมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมในประเทศไทย (โครงการสิ้นสุดในกลางปี 2559)
2558 เครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ มีมติจัดทำตรากลางเพื่อให้สมาชิกเครือข่ายฯ ที่ผ่านการประเมินระบบแล้ว สามารถใช้ตรากลางเกษตรอินทรีย์ PGS นี้บนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม
2559 * มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยผลักดันให้จัดตั้งเครือข่าย TOAF PGS ORGANIC และจัดทำระบบตรากลางให้กับเกษตรกรที่ผ่านการรับรองในระบบพีจีเอสของมูลนิธิฯ

* บจก. สวนเงินมีมาผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่าย We Organic PGS และจัดทำระบบตรากลางที่ผ่านการรับรองในระบบพีจีเอสของเครือข่าย

* มูลนิธิสัมมาชีพร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนจัดทำแผนงาน “สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งสู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน” โดยนำระบบชุมชนรับรองของเครือข่ายไทยพีจีเอสเกษตรอินทรีย์พลัสไปใช้ และได้เริ่มจัดทำตรากลางให้กับเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง

2560 กลุ่มต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งองค์กรกลาง “สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส” [4 ธ.ค.]
2561 สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม

 


เครือข่ายไทยพีจีเอสเกษตรอินทรีย์พลัสเป็นเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมมานานที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2556  เครือข่ายฯ ทำหน้าที่ในการประสานงานและสนับสนุนสมาชิกในการพัฒนาระบบชุมชนรับรองของสมาชิกเอง โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ออกใบรับรองให้กับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง แต่เครือข่ายฯ จะช่วยทำการประเมินระบบชุมชนรับรองของสมาชิก (กลุ่มหรือองค์กร) ว่ามีข้อกำหนดมาตรฐานและระบบการตรวจรับรองสมาชิกเป็นไปตามหลักการของการรับรองแบบมีส่วนร่วมของ IFOAM – Organics International หรือไม่ เมื่อผ่านการประเมินแล้ว สมาชิกก็มีสิทธิในการใช้ตรากลางของเครือข่ายฯ กับผลผลิตที่ผ่านการรับรองโดยกลุ่ม

สมาชิกเครือข่ายฯ ส่วนใหญ่มีการกำหนดมาตรฐานในกลุ่มที่เพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดของเกษตรอินทรีย์ (เช่น โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ของ บจก. กรีนเนทเอสอี มีข้อกำหนดให้เกษตรกรสมาชิกต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าภายในฟาร์ม, เครือข่ายวนเกษตรป่าตะวันออกมีข้อกำหนดให้สมาชิกต้องมีระบบนิเวศฟาร์มแบบวนเกษตร, เครือข่ายสายใยออร์แกนิคของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้าน เป็นต้น) และนี่คือที่มาของชื่อ “พลัส” ของเครือข่ายฯ

ดูข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายฯ ได้ที่ link


เครือข่าย TOAF PGS ORGANIC เป็นเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย ปัจจุบัน (25 ก.ค. 59) มีกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่าย 4 กลุ่มใน 4 จังหวัด เครือข่ายฯ ทำหน้าที่เพียงการประสานงานระหว่างกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นสมาชิก แต่มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้รับรอง (ซ้ำ) และขึ้นทะเบียนเกษตรกร (รายครอบครัว) ที่ได้รับการรับรองโดยกลุ่ม รวมทั้งออกเลขหมายสมาชิก รวมทั้งการอนุมัติการใช้ตรา

ดูข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเครือข่ายฯ และมูลนิธิฯ ได้ที่ www.pgsorganic.org/

เครือข่าย We Organic PGS จัดตั้งขึ้นในปี 2559 เพื่อเป็นเครือข่ายการรับรองแบบมีส่วนร่วมภายใต้การสนับสนุนของ บจก. สวนเงินมีมา แต่ในปี 2560 ได้เปลี่ยนบทบาทใหม่  แต่มีการรวมกลุ่มของคนทำงานจากเครือข่ายนี้จัดตั้งเป็น “เครือข่ายอาหารเพื่อเพื่อน” (Food for Fried Network) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรที่สนใจ และได้มีการขยายพื้นที่ทำงานออกไปในหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น

ดูข้อมูลของเครือข่ายได้ที่ FB: Food for Friend