กระบวนการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์
กระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของแต่ละหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์อาจแตกต่างกันออกไป ซึ่งหน่วยตรวจรับรองจะมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนตรวจรับรองของตัวเองให้ผู้สนใจได้รับทราบ ซึ่งผู้ผลิต-ผู้ประกอบการควรทำการศึกษาขั้นตอนเหล่านี้อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจสมัคร  นอกจากนี้ ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการควรศึกษาเปรียบเทียบหน่วยตรวจรับรอง 2 – 3 แห่ง เพื่อพิจารณาดูรายละเอียดของข้อกำหนดมาตรฐาน ค่าใช้จ่าย ความรวดเร็ว คุณภาพของการให้บริการ ตลอดจนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานและการยอมรับผลการตรวจรับรองของหน่วยงานนั้นโดยผู้ซื้อหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ (ในกรณีส่งออก) เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือกหน่วยตรวจรับรอง

อย่างไรก็ตาม โดยปกติทั่วไปแล้ว กระบวนการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์จะประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 7 ขั้นตอน คือ

(1) การสมัคร
ในขั้นตอนแรกของกระบวนการตรวจรับรอง ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจะต้องติดต่อกับหน่วยงานรับรองเพื่อขอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรับรองจะจัดส่งชุดเอกสารการสมัครให้  โดยทั่วไป ชุดเอกสารนี้ควรประกอบด้วย

  • มาตรฐานการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์
  • ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยตรวจรับรอง
  • ข้อกำหนดและระเบียบในการตรวจรับรอง
  • เอกสารใบสมัคร รวมข้อตกลง/สัญญาในการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
  • ค่าใช้จ่ายในการตรวจและการรับรอง

ในบางกรณี รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ข้างต้นอาจรวบรวมอยู่ในคู่มือผู้ผลิต-ผู้ประกอบการก็ได้

ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจะต้องกรอกข้อมูลในเอกสารใบสมัคร รวมทั้งจัดเตรียมข้อมูลประกอบตามที่หน่วยตรวจรับรองกำหนด ซึ่งเอกสารดังกล่าวอาจประกอบด้วยประวัติฟาร์ม/ที่ดิน แผนผังฟาร์ม แผนการปรับเปลี่ยนฟาร์มเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ แผนการผลิต เป็นต้น

(2) จ่ายค่าตรวจรับรอง
หน่วยตรวจรับรองอาจกำหนดให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจ่ายค่าธรรมเนียมตรวจรับรองพร้อมกับการส่งเอกสารการสมัคร หรืออาจเรียกเก็บค่าตรวจรับรอง หลังจากที่ได้ตรวจประเมินข้อมูลรายละเอียดในเอกสารการสมัครเบื้องต้นก่อน  หรือในบางกรณี หน่วยตรวจรับรองอาจมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเบื้องต้นก่อน และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองเพิ่มเติมภายหลังการตรวจหรือการรับรองก็ได้  โดยปกติทั่วไป ผู้ผลิต-ผู้สมัครจะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้กับผู้ตรวจโดยตรง (แม้ว่าผู้ตรวจนั้นจะเป็นผู้ตรวจอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานรับรองที่ขอการรับรองก็ตาม) แต่จะจ่ายค่าตรวจให้กับหน่วยรับรอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันอคติและผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ตรวจกับผู้ผลิต-ผู้ประกอบการที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อได้รับเอกสารแจ้งให้มีการชำระค่าตรวจรับรอง ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการชำระค่าตรวจรับรองให้หน่วยงานรับรองก่อน หน่วยงานรับรองจึงจะดำเนินการในขั้นต่อไป  ดังนั้น การชำระเงินล่าช้าย่อมทำให้กระบวนการตรวจรับรองเสียเวลาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

(3) การตรวจ 
เมื่อได้รับเอกสารใบสมัครแล้ว หน่วยตรวจรับรองจะทำการตรวจประเมินเอกสารดังกล่าวว่า มีการจัดส่งเอกสารสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ รวมทั้งตรวจประเมินว่า ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการมีการปฏิบัติที่อยู่ในขอบข่ายที่จะขอรับการตรวจรับรองหรือไม่ รวมทั้งมีความพร้อมในการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือไม่  บางหน่วยงานรับรองอาจมีการให้บริการตรวจประเมินการผลิตเบื้องต้น (pre-assessment) เพื่อประเมินความพร้อมของผู้ผลิต-ผู้ประกอบการในการรับรองมาตรฐานก็ได้ โดยการตรวจประเมินการผลิตเบื้องต้นนี้มักจะรวมถึงการไปตรวจประเมินที่ฟาร์มหรือสถานที่ผลิตของผู้ผลิต-ผู้ประกอบการนั้น

หลังจากตรวจประเมินเอกสารแล้ว ในกรณีที่ไม่มีปัญหาสำคัญอะไร หน่วยงานรับรองก็จะมอบหมายงานตรวจให้กับผู้ตรวจ แต่ ในกรณีที่หน่วยงานรับรองประเมินว่า ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการไม่อยู่ในขอบข่ายที่จะขอการรับรอง หรือยังไม่มีความพร้อมที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน หน่วยงานรับรองอาจปฏิเสธที่จะรับสมัครตั้งแต่ในขั้นตอนนี้

ในการมอบหมายงานตรวจนี้ ผู้ตรวจที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ตรวจจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น จะต้องมีความรู้และความสามารถในการตรวจการผลิตประเภทนั้น และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น   หน่วยตรวจรับรองจะจัดส่งเอกสารการสมัครให้กับผู้ตรวจ รวมทั้งคำสั่งเพิ่มเติมในการตรวจประเมินจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการตรวจ เพื่อตรวจประเมินการปฏิบัติในบางเรื่อง ที่หน่วยงานรับรองคาดว่า จะเป็นจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในการผลิต-จัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และข้อกำหนดในการรับรอง

จากนั้น ผู้ตรวจจะทำการนัดและประสานงานกับผู้สมัครโดยตรง (หรืออาจให้หน่วยตรวจรับรองเป็นผู้ดำเนินการให้ก็ได้)  ในการตรวจประเมินนั้น ผู้ตรวจจะทำการตรวจเช็คข้อมูล ประเมิน สังเกต สำรวจ สัมภาษณ์ แล้วจึงจัดทำรายงานการตรวจฟาร์ม/สถานที่ผลิตของผู้ผลิต-ผู้ประกอบการตามที่ได้รับการมอบหมาย ซึ่งรายงานการตรวจนี้ จะสรุปสิ่งที่ผู้ตรวจได้พบเห็นและรับรู้จากการตรวจ รวมทั้งมีการประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของผู้ผลิต-ผู้ประกอบการให้กับหน่วยงานรับรองได้ทราบ

โดยทั่วไป ผู้ตรวจจะทำการสรุปผลการตรวจเป็นวาจาแจ้งให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการ ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการตรวจ  รวมทั้งส่งสำเนารายงานการตรวจให้ภายหลังการตรวจ เพื่อให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการยืนยันรับทราบรายงานการตรวจ

(4) การรับรอง
เมื่อผู้ตรวจจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสร็จสิ้น ผู้ตรวจจะจัดส่งรายงาน พร้อมเอกสารแนบต่างๆ ที่ได้จากการตรวจให้กับหน่วยตรวจรับรอง  จากนั้น หน่วยตรวจรับรองจะทำการประเมินความเรียบร้อยของรายงานตรวจ และดำเนินการพิจารณาผลการตรวจ เพื่อตัดสินใจให้การรับรองการผลิต-การประกอบการนั้น โดยการพิจารณารับรองอาจดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรับรองเอง หรืออาจเป็นในรูปของคณะกรรมการรับรอง ที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานรับรอง ซึ่งเจ้าหน้าที่หรือกรรมการรับรองนี้จะต้องไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้สมัคร

การพิจารณารับรองอาจมีผลการพิจารณาในลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้

  • รับรองโดยไม่มีเงื่อนไข
  • รับรองโดยมีเงื่อนไขให้ผู้สมัครต่อปฏิบัติตามให้แล้วเสร็จก่อนการรับรองจะมีผล
  • รับรองโดยมีเงื่อนไขให้ผู้สมัครต่อปฏิบัติตามให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • ไม่รับรอง
  • เลื่อนการพิจารณา เนื่องจากมีข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจไม่เพียงพอ และต้องมีการตรวจเพิ่มเติม

ผลการพิจารณารับรองอาจมีรายละเอียดได้ในหลายลักษณะ เช่น อาจมีการรับรองบางแปลงเท่านั้น หรืออาจมีรับรองเฉพาะผลผลิตบางชนิด

(5) การแจ้งผล
ผลของการพิจารณาจะแจ้งให้กับผู้ผลิต-ผู้ประกอบการที่สมัครขอการรับรองได้รับทราบ โดยปกติมักจะเป็นการแจ้งผลเป็นลายลักษณ์อักษรทางจดหมาย และอาจมีการให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการลงนามรับทราบผลการรับรอง ตลอดจนเงื่อนไขของการรับรอง รวมทั้งประกาศนียบัตรรับรองการผลิต-ประกอบการเกษตรอินทรีย์

(6) การอุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการมีความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณารับรอง รวมถึงเงื่อนไขที่กำหนดขึ้น ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ผลการรับรอง ให้หน่วยตรวจรับรองพิจารณาทบทวนใหม่ ซึ่งหน่วยตรวจรับรองอาจมีโครงสร้างและขั้นตอนในการพิจารณาคำอุทธรณ์ที่แตกต่างกัน  โดยปกติทั่วไป ผู้ที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์นี้จะต้องไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับที่ได้พิจารณาการรับรองในครั้งแรก

(7) ประกาศนียบัตรและการใช้ตรารับรอง
หน่วยงานรับรองอาจส่งประกาศนียบัตรการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้ผลิต-ผู้ประกอบการพร้อมกันกับจดหมายแจ้งผล หรืออาจจัดส่งให้ภายหลังก็ได้  และพร้อมกันนั้น ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการก็จะได้รับแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและเงื่อนไขรายละเอียดในการใช้ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งอาจใช้ตรารับรองเกษตรอินทรีย์บนผลิตภัณฑ์และในสื่อต่างๆ ของผู้ผลิต-ผู้ประกอบการ (เช่น นามบัตร แผ่นพับ เว็บไซต์)