ปรับตัวรับมือโลกร้อน : เกษตรกรแนวใหม่กับการจดบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ
“ผู้คนในหมู่บ้านต่างมองดูผมด้วยสายตาแปลกๆ บางคนก็หาว่าผมบ้า เมื่อเขาเห็นสมุดจดบันทึกสภาพอากาศของผม แต่ผมว่ามันดีกว่าที่จะจดบันทึกปรากฏการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับสภาพอากาศและฟ้าฝนเอาไว้”พ่อเอี่ยมกล่าว

พ่อเอี่ยม สมเพ็ง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ วัย 65ปี ในจังหวัดยโสธร เป็นเกษตรกรที่สนใจเรียนรู้และจดบันทึกปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่องกับฟ้าฝนอยู่เป็นประจำ  เขาเป็นคนหนึ่งที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพราะยาฆ่าแมลงทำให้สุขภาพไม่ดีและเจ็บป่วยและเมื่อหันมาทำนาเกษตรอินทรีย์ก็ไม่เคยคิดกลับไปทำนาแบบเคมีอีกเลย พ่อเอี่ยมเป็นคนพูดน้อย จบแค่ ป.4 แต่เป็นคนที่ทำอะไรทำจริงมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเสมอ พ่อเอี่ยมบอกว่า “หากใครมาถามอะไรแล้วตอบไม่ได้จะทำให้ผมรู้สึกค้างคาใจและต้องการหาคำตอบให้ได้”ดังนั้น การจดบันทึกจึงเป็นเรื่องปกติหรือเป็นกิจวัตรที่พ่อเอี่ยมทำเป็นประจำเพื่อจดไว้เป็นข้อมูลทางสถิติ

ในชนบทไทย การเข้าถึงข้อมูลพยากรณ์อากาศแทบจะไม่เคยมีมาก่อน ประมาณ 70%ของประชากรในชนบทอาศัยความรู้ดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาจากปู่ย่าตายายและเชื่อถือตามประสบการณ์และการจดจำต่อๆ กันมาซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

แต่พ่อเอี่ยมเป็นเกษตกรหรือชาวนาที่ต่างออกไป เพราะเขาจดบันทึกและใช้ประโยชน์จากการจดบันทึกข้อมูลเหล่านั้นได้จริง โดยพ่อเอี่ยมเป็นหนึ่งใน 15 ตัวแทนเกษตรกรที่จดบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชน (Community Weather Forecast Center- CWFC) ซึ่งเป็นศูนย์แรกในเมืองไทย

พ่อเอี่ยมให้ข้อมูลว่า ปกติเกษตรกร จะพยากรณ์หรือคาดการณ์สภาพอากาศโดยใช้การสังเกตจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพียงอย่างเดียวในการคาดการณ์สภาพอากาศว่าฝนจะตกหรือไม่ตกนั้น คงไม่เพียงพอเนื่องจาก สภาพอากาศในปัจจุบันค่อนข้างแปรปรวนและคาดการณ์ได้ยากขึ้น เนื่องจากภาวะโลกที่ร้อนขึ้น เช่น เมื่อปีที่ผ่านมาเมื่อฝนมาล่าช้าเป็นเดือน ทำให้ชาวนาหลายรายในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาการสูญเสียเงินในการลงทุนทำนาปลูกข้าวเพราะไม่มีน้ำพอที่จะเลี้ยงข้าวให้โตออกรวงได้ ดังนั้น ชาวนาต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์เป็นชาวนาสมัยใหม่ที่ต้องรู้จักป้องกันความเสี่ยงด้วย

พ่อเอี่ยมจะอ่านและฟังข่าวเกี่ยวกับพยากรณ์อากาศอย่างตั้งใจพร้อมกับสังเกตุสภาพแวดล้อมจริงในพื้นที่ ตรวจสอบเทียบเคียงกับข้อมูลพยากรณ์ และเขาจะดูข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS)ที่ส่งมาจากโครงการศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนเป็นประจำ

“ผมเรียนรู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์ อยากจะใช้เฟสบุ๊ค (Facebook) และอินเทอร์เน็ตเพื่อสื่อสารกับคนอื่นๆ และรับข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น”พ่อเอี่ยมกล่าว

นอกจากนี้ พ่อเอี่ยมยังทิ้งท้ายไว้ว่า เขาไม่กลัวเรื่องที่คนรุ่นใหม่จะหันหลังให้การทำนา แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือ

“ตัวชาวนาเองในปัจจุบันที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิถีและปรับตัวรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปต่างหากที่น่าเป็นห่วงกว่า”

เรียบเรียงข้อมูลจาก Bangkok Post

http://www.bangkokpost.com/lifestyle/family/350095/