START จัดระดมความเห็นการสร้างขีดความสามารถให้ชุมชนในการรับมือโลกร้อน

ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า Southeast Asia START Regional Center ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นว่าด้วย การสร้างขีดความสามารถชุมชนในการรับมือกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศ โดยมีผู้เข้าร่วมราว 40 คน ที่เป็นตัวแทนเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เมื่อ 26 มิถุนายน 2553

ที่ประชุมได้เริ่มจากการประเมินความเสี่ยงของชุมชนในประเทศไทยจากสภาพอากาศว่าเพิ่มขึ้น/ลดลงอย่างไร ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นอยู่กับการเปิดเผยต่อผลกระทบของสภาพอากาศ (exposure) มากน้อยเพียงใด ความอ่อนไหวของครอบครัวหรือชุมชนต่อผลกระทบของสภาพอากาศ (sensitivity) มากเพียงใด รวมทั้งครอบครัวหรือชุมชนมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศ (adaptive capacity) มากน้อยเพียงใด

จากการแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วม พบว่าชุมชนในประเทศไทยมีความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปอยู่ 4 ด้านสำคัญ คือ
1) ความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการเกษตร (ทั้งในด้านของการติดดอกออกผลของผลไม้หลายชนิด การระบาดของโรคแมลงศัตรูพืชบางชนิด เป็นต้น) ต่อสุขภาพ (เช่น สภาพอากาศที่ร้อนที่มีผลต่อสุขภาพของคนสูงอายุ การระบาดของโรคติดต่อที่มีแมลงเป็นพาหะ) และต่อระบบนิเวศธรรมชาติ (เช่น การออกดอกของเห็ดป่า การฟอกขาวของประการัง) ซึ่งเกษตรกรและชุมชนมีความสามารถในการจัดการในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย

2) ความเสี่ยงจากฝนแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ซึ่งฤดูฝนในประเทศไทยดูเหมือนจะมาช้าลง และฝนในช่วงแรกจะมาช้า ตกเป็นระยะสั้นๆ แต่ค่อนข้างหนัก แล้วทิ้งระยะเป็นช่วงๆ ซึ่งช่วงที่ทิ้งระยะก็จะมีอากาศค่อนข้างร้อน และฝนในระยะที่สองก็มาช้าลง ทำให้ฤดูในการเพาะปลูกสั้นลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพของฟาร์ม

3) ความเสี่ยงจากน้ำท่วม ซึ่งมีทั้งน้ำท่วมแบบสั้นๆ ที่เกิดขึ้นจากฝนที่ตกหนักในระยะสั้นๆ ในขณะที่พื้นที่ป่าลดลง โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ซึ่งทำให้เกิดลักษณะน้ำท่วมฉับพลันระยะสั้น  นอกจากนี้ ก็มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมขังระยะยาว ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการตั้งชุมชนในพื้นที่ชายขอบที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมมากขึ้น และการสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค (เช่น ถนน) หรือการจัดการน้ำ ที่มีการป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง โดยการกันน้ำไม่ให้ไหลเข้าในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณรอบเมืองเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ และส่งผลกระทบต่อการเกษตร (มากน้อยขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลาที่เกิด เช่น เกิดต้นฤดูการผลิต หรือปลายฤดูการผลิต ก่อนการเก็บเกี่ยว)

4) ความเสี่ยงจากลมพายุต้นฤดูที่มีความรุนแรง (บางครั้งอาจเกิดเป็นลูกเห็บ) เพราะสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนขึ้น  ลมพายุที่แรงนี้ส่งผลกระทบต่อการเกษตรและอาคารบ้านพักได้มาก (เช่น พัดทำลายบ้านพัก ทำให้ต้นไม้หักโค่น สัตว์เลี้ยงบาดเจ็บ)

มีข้อสังเกตว่า ความเสี่ยงจากอากาศร้อนและภัยแล้งมักจะเกิดในบริเวณกว้างขวาง (เป็นทั้งภาค หรือประเทศ) ในขณะที่ความเสี่ยงจากน้ำท่วมและลมพายุจะมีลักษณะเฉพาะพื้นที่มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ มีปัจจัยสาเหตุเสริม/สาเหตุหลักอื่นที่เป็นองค์ประกอบด้วย เช่น ความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมระยะยาวมีเหตุปัจจัยหลักจากการวางผังเมืองและการออกแบบระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ได้คำนึงถึงการจัดการน้ำท่วมไว้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัจจัยรอง หรือความเสี่ยงจากน้ำท่วมระยะสั้นที่มีเหตุปัจจัยหลักจากภูมิอากาศ แต่มีปัจจัยเสริมจากการลดลงของพื้นที่ป่าและการใช้ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น  ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์เหตุปัจจัยของความเสี่ยงในแต่ละเรื่อง เพื่อจะได้สามารถกำหนดมาตรฐานในการลดความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถของชุมชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของสภาพอากาศ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อปรึกษาหารือใน 5 หัวเรื่อง คือ (ก) ความตระหนักรู้ของชุมชนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศ (ข) ความรู้ของชุมชนในการหาทางเลือกในการรับมือ (ค) ความสามารถทางด้านเทคนิคในการปรับตัว (ง) ทรัพยากรที่จำเป็นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และ (จ) กลไกในการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ

ที่ประชุมพบปัญหาช่องว่างของความสามารถของชุมชนในการรับมือหลายด้าน เช่น ในส่วนของความรู้และความสามารถในการรับมือกับภัยเสี่ยงเหล่านี้มีความแตกต่างกัน โดยภัยจากน้ำท่วมระยะยาวนั้น ดูเหมือนทั้งชาวบ้านและชุมชนดูจะมีความรู้ในการจัดการต่ำที่สุด รองลงมาคือ สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมทั้งการจัดการน้ำท่วมระยะสั้น และที่มีความรู้ค่อนข้างมาก คือ การจัดการภัยแล้ง และภัยจากลมพายุ  ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องต่างๆ ก็มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เพราะความรู้ในการปรับตัวในแต่ละด้าน (เกษตร ทรัพยากร สุขภาพ) ต้องการความรู้เฉพาะทาง ซึ่งยังขาดการรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ รวมทั้งความรู้ในเชิงประยุกต์ ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการความรู้ทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนากลไกในการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับชุมชน เพราะเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการปรับตัวรับมือของชุมชนยังอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนข้อเสนอในเชิงกลไกการดำเนินงานและการสนับสนุนให้ชุมชนสามารถที่จะปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีขึ้นนั้น ควรจะเป็นการขยายขอบเขตงานของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรและธรรมชาติจังหวัดให้ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานราชาการต่างๆ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด แล้วดำเนินงานผ่านไปยังองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การสนับสนุนกับชุมชนและองค์กรชุมชนในการดำเนินการปรับตัว  และในขณะเดียวกัน ควรจะมีการจัดตั้งกลไกกลางเพื่อประสานการสนับสนุนทางเทคนิควิชาการ ที่มีเครือข่ายระดับประเทศของนักวิชาการ ที่อยู่ตามสถาบันการศึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญอิสระ (อาจเป็นผู้นำชาวบ้านด้วยก็ได้) โดยอาจแยกเป็นกลุ่มความรู้เฉพาะทาง เพื่อให้การพัฒนาและจัดการความรู้เฉพาะด้าน รวมทั้งให้การสนับสนุนความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางกับชุมชนหรือหน่วยงานที่ต้องการริเริ่มโครงการปรับตัวในที่ต่างๆ

ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้ จะนำเสนอต่อสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สมช.) เพื่อใช้ในการจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก การผันผวนของราคาพลังงาน และวิกฤติอาหารโลก