เกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Codex
Codex Alimentarious Commission เป็นหน่วยงานรัฐบาลระหว่างประเทศ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2505 ในลักษณะของคณะกรรมการร่วมระหว่างองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nation Food and Agriculture Oranization – FAO) และองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

คณะกรรมการ Codex Alimentarious ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2541 จากนั้นในปี พ.ศ. 2544 จึงได้เพิ่มเกณฑ์มาตรฐานเรื่องปศุสัตว์และการเลี้ยงผึ้ง  เกณฑ์มาตรฐานนี้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่บ้าง เช่น มีการเพิ่มเติมรายชื่อปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ได้ในปี พ.ศ. 2544 และในปี พ.ศ. 2545 มีการทบทวนเกณฑ์ในการพิจารณาปัจจัยการผลิตต่างๆ

เกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า “Codex Guidelines on the Pproduction, Processing, Labelling and Marketing of Organically Produced Foods” โดยมีเป้าหมายเพื่อนิยามความหมายของคำ “เกษตรอินทรีย์” (“organic”) ซึ่งจะช่วยป้องกันการกล่าวอ้างของสินค้าที่เกินจริง อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการปฏิบัติทางการค้าอย่างเป็นธรรม

การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานของ Codex นี้ได้พิจารณาเกณฑ์มาตรฐานของ IFOAM ตลอดจนกฎระเบียบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกด้วย โดยจัดทำในลักษณะของการเป็นกรอบแนวทางสำหรับใช้ในการอ้างอิงของประเทศสมาชิก  ดังนั้น เกณฑ์มาตรฐาน Codex ไม่ใช่เกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ในการตรวจรับรองมาตรฐานโดยหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ได้ แต่เป็นเกณฑ์เพื่อให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่ต้องการจัดทำข้อกำหนดและกฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศตัวเอง ซึ่งในการกำหนดมาตรฐานนี้ รัฐบาลจะต้องจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ภายใต้เงื่อนไขของประเทศตัวเอง

เอกสารเกณฑ์มาตรฐาน Codex จะระบุกรอบข้อกำหนดทั่วไปโดยกว้างๆ ส่วนเนื้อหารายละเอียดของมาตรฐานจะอยู่ในส่วนของภาคผนวก โดยกรอบข้อกำหนดประกอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ฉลาก ข้อกำหนดการผลิตและการจัดเตรียม ข้อกำหนดในการเพิ่มเติมปัจจัยการผลิต และเกณฑ์ในการพิจารณาเพิ่มเติมปัจจัยการผลิต  นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบและรับรอง ตลอดจนการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์  ในส่วนของภาคผนวกจะมีรายละเอียดมาตรฐานสำหรับการผลิต การแปรรูป และการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยครอบคลุมการผลิตพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเลี้ยงผึ้ง การจัดการและการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (ภาคผนวก 1) และปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในฟาร์มและการแปรรูป (ภาคผนวก 2)

มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐาน Codex ในบางประการเกี่ยวกับการใช้เป็นกรอบมาตรฐานสำหรับการยอมรับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ

  1. เกณฑ์มาตรฐาน Codex ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่มีข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) เกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยพืช (sanitary and phytosanitary measures – SPS) และการกีดกันทางการค้าด้านเทคนิค (technical barriers to trade – TBT) ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานของ Codex ได้รับการระบุในข้อตกลงเรื่องสุขอนามัยพืช สำหรับเป็นเกณฑ์อ้างอิงในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า เกณฑ์มาตรฐานของ Codex ควรจะสามารถใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในฐานะมาตรฐานระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลงการกีดกันทางการค้าด้านเทคนิคด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่างๆ อาจใช้เกณฑ์มาตรฐานของ Codex ในการหาข้อยุติ เมื่อมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
  2. ในกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ไม่ได้กล่าวถึงเกณฑ์มาตรฐาน Codex (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า กฎระเบียบของอเมริกาถูกจัดทำขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2533 ก่อนที่เกณฑ์มาตรฐานของ Codex จะแล้วเสร็จ)  ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้อ้างอิงถึง Codex ไว้อย่างชัดเจน  สำหรับสหภาพยุโรป กฎระเบียบเกษตรอินทรีย์ของยุโรปฉบับใหม่ (EU Regulation 834/2007) ที่เพิ่งออกมาใช้แทนกฎระเบียบเดิม ( EU Regulation 2092/91) ได้อ้างอิงถึงเกณฑ์มาตรฐาน Codex สำหรับการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ
  3. การเพิ่มรายการปัจจัยการผลิตเกษตรอินทรีย์นั้น มาตรฐาน Codex เพียงกำหนดให้ประเทศสมาชิกแสดงให้เห็นว่า ได้ทำการประเมินปัจจัยกรผลิตดังกล่าวตามเกณฑ์มาตรฐานของ Codex แล้ว ก็อาจอนุญาตให้เพิ่มรายการปัจจัยการผลิตนั้นได้ โดยกรรมการ Codex ไม่ได้มีแผนที่จะทำการประเมินทางเทคนิคกับปัจจัยการผลิตนั้นด้วยตนเอง ซึ่งแตกต่างจากรณีของการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานของ IFOAM ที่คณะกรรมการมาตรฐานของ IFOAM  จะต้องประเมินปัจจัยการผลิตนั้นก่อน ที่จะพิจารณาเพิ่มปัจจัยการผลิตนั้นในมาตรฐาน
  4. ขอบเขตของเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex ครอบคลุมเฉพาะการผลิตพืช ปศุสัตว์ การเลี้ยงผึ้ง และการแปรรูปอาหาร แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาด เช่น สัตว์น้ำ เครื่องสำอาง สิ่งทอ  และกระบวนการในการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex ก็ค่อนข้างใช้เวลานานมาก ซึ่งทำให้เป็นข้อจำกัดในการที่จะใช้เกณฑ์มาตรฐาน Codex เป็นแกนสำหรับการ Harmonization และ Equivalence ของเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ

 

เกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ Codex (คลิ๊ก)