สมาพันธ์พีจีเอสเร่งพัฒนาระบบตรวจประเมินไขว้

แม้จะมีข้อดีในเรื่องการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของเกษตรกร ระบบพีจีเอส (การรับรองแบบมีส่วนร่วม หรือ “ชุมชนรับรอง”)​ ก็มีจุดอ่อนในเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการตรวจรับรองกันเองในหมู่เกษตรกร แม้บางครั้งอาจมีผู้ซื้อเข้าไปร่วมด้วย แต่ความน่าเขื่อถือก็ยังต่ำกว่าการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ

สมาชิกสมาพันธ์เกษตร​อินทรีย์​ไทย​ พี​จีเอส​ ก็ตระหนัก​ใน​จุดอ่อนเรื่อง​นี้ดี และได้ร่วมกันพัฒนากลไกการตรวจไขว้ในลักษณะ​ของ peer audit โดยตัวแทนจากกลุ่มพีจีเอสกลุ่มหนึ่งจะไปตรวจประเมินระบบพีจีเอสของอีกกลุ่ม​หนึ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความโปร่งใสของการทำงาน (และสร้างความน่าเชื่อถือ)​ แล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ข้ามกลุ่ม​พีจีเอสกันอีกด้วย

วิฑูรย์​ ปัญญา​กุล​ ประธานสมาพันธ์​ฯ ได้พยายามพัฒนา​ระบบการตรวจไขว้นี้ให้กับประเทศไทย (และอาจเป็นกลไกแรกๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียง​ใต้​ก็เป็นได้)​ และได้เป็นวิทยากรหลักใน “การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติ​” กับสมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืน (นครศรีธรรมราช​พีจีเอส)​ ซึ่งมีสมาชิกรวมกัน 91 คน แต่ได้รับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์พีจีเอสแล้ว 81 คน โดยมีเกษตรกรที่ปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ 34 คน (467 ไร่) และเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์อีก 47 คน (1,445 ไร่) การจัดอบรม 3 วัน (19-21 กุมภาพันธ์ 2562) มีสมาชิกของสมาพันธ์กว่า 20 คน เข้าร่วม จาก 9 เครือข่าย/กลุ่ม

หนึ่งในปัญหาความยุ่งยากของระบบเกษตรอินทรีย์พีจีเอสของกลุ่มนี้ก็คือ เกณฑ์มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงให้เท่าเทียมกับเกณฑ์มาตรฐาน/หลักการเกษตรอินทรีย์สากล เช่น แหล่งที่มาของพันธุ์สัตว์ อาหารที่ใช้เลี้ยง ระยะเวลาในการเลี้ยงก่อนขายเป็นสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

ในประเทศไทยเอง แม้จะมีเครือข่ายพีจีเอสอยู่หลาย “ค่าย” แต่มีเฉพาะสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส เพียงองค์กรเดียวที่มีการจัดทำกลไกการตรวจไขว้ข้ามกลุ่ม