อัพเดทข้อมูลเกษตรอินทรีย์โลก: ประเทศไทยได้เริ่มปักหมุดบนแผนที่เกษตรอินทรีย์โลก

ในปี 2561 มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านครอบครัว โดยทำการผลิตในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ (ที่ได้รับการรับรอง) 446.88 ล้านไร่ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.5 ล้านไร่) ทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์คิดเป็นสัดส่วนราว 1.5% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด
เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ขึ้นติดอับดับ 10 ประเทศที่มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ประเทศอินเดียยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีเกษตรกรอินทรีย์มากที่สุด (1.149 ล้านครอบครัว) รองลงมาคือ ยูกานดา เอธิโอเปีย แทนซาเนีย เปรู ตุรกี อิตาลี แล้วจึงประเทศไทย (58,490 ครอบครัว) แต่ถ้าดูในเชิงของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง ประเทศไทยน่าจะอยู่ลำดับที่ 50 กว่า (จากทั้งหมด 186 ประเทศ)
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ธรรมชาติ ที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ (พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตป่า-ธรรมชาติ) ในปี 2561 อีก 223.125 ล้านไร่
ตลาดเกษตรอินทรีย์โลกขยายตัวราว 7.4% รวมมีมูลค่า 96,700 ล้านยูโร (3.38 ล้านล้านบาท)
ในส่วนของ PGS ก็มีการขยายตัวขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา จากปีก่อนหน้าที่มีเกษตรกรที่ได้รับการตรวจรับรองในระบบ PGS 142,955 คน ได้เพิ่มเป็น 496,104 คน หรือเพิ่มราว 240% โดยประเทศที่มีเกษตรอินทรีย์ PGS มากที่สุดคือ อินเดีย (471,007 คน) รองลงมาคือ บราซิล (6,309 คน) และอันดับสาม คือ ประเทศไทย (2,110 คน) ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส
ในปีที่ผ่านมา FiBL และ IFOAM ได้สำรวจการตรวจรับรองแบบกลุ่ม (group certification) และพบว่า มีเกษตรกรกว่า 2.6 ล้านครอบครัว (เกือบ 93% ของเกษตรกรอินทรีย์ทั่วโลก) ใน 5,900 กลุ่ม ที่ได้รับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่ม โดยมีพื้นที่การผลิตมากถึง 28 ล้านไร่ โดยกว่า 54% อยู่ในเอเชีย 33% ในอาฟริกา และ 13% อยู่ในลาตินอเมริกา