สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียนต้องการนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่คิดแบบรอบคอบ

[11 ก.ค. 62 กรุงเทพ] นายวิฑูรย์ ปัญญากุล ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation) กล่าวบรรยายพิเศษในพิธีเปิดงาน Biofach Southeast Asia 2019 (ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี) เกี่ยวกับความท้าทายหลายด้านที่เกษตรอินทรีย์อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความอ่อนแอในการบริหารห่วงโซ่ซัพพลาย, ระบบงานส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ ที่ยังมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่ต่ำมาก, ผนวกกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง, และความสับสนของมาตรฐานและตรารับรองที่หลากหลาย ที่ทำให้ผู้บริโภคยากที่จะจดจำและจำแนกแยกแยะผลผลิตเกษตรอินทรีย์ออกจากผลผลิตอื่นๆ

แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อาเซียนในความเห็นของนายวิฑูรย์ก็คือ การต้องมีระบบการสนับสนุนนโยบายที่โฟกัสพื้นที่ (ไม่ใช่การดำเนินการแบบเหวี่ยงแหทั่วประเทศ/ภูมิภาค) ต้องมีการออกแบบที่เชื่อมโยงการจัดการห่วงโซ่ซัพพลายที่มีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน โดยมีกิจกรรมเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 3 ด้าน คือ (ก) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสถิติ ทั้งด้านการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ในอาเซียน, (ข) ระบบและกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร ที่เน้นผลการเปลี่ยนแปลง (ไม่ใช่แค่จำนวนผู้เข้าร่วม) และ (ค) ระบบตรากลางอาเซียนออร์แกนิค ที่เป็นตราส่งเสริมสินค้าที่ใช้ร่วมกันในภูมิภาค (ไม่ใช่ตรารับรองของแต่ละประเทศ)

อนึ่ง สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation) ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โดยสมาคมผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศในอาเซียน คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ในลักษณะของหนึ่งประเทศ หนึ่งสมาชิก นายวิฑูรย์ ปัญญากุล (กรรมการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย) ได้รับเลือกให้เป็นประธานของสมาพันธ์มาตั้งแต่ประชุมก่อตั้งในปี 2560