ประธาน IFOAM สนับสนุนไทยเจรจาความทัดเทียมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในลุ่มแม่น้ำโขง
(กรีนเนท) คุณ Katherine Di Matteo ประธานสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม InnovAsia 2009 “Food in the Future: The international showcase for the future of food innovation” ที่จัดโดยสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการ Global Organic Market Access (GOMA) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง IFOAM, FAO, UNTADในการสนับสนุนให้ ประเทศต่างๆ ได้จัดการเจรจาเพื่อยอมรับความทัดเทียมกันของมาตรฐานและระบบการตรวจสอบ รับรองเกษตรอินทรีย์ของประเทศอื่น เพื่อที่จะช่วยทำให้การค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศเป็นได้โดยสะดวกมากขึ้น

ในปัจจุบัน มีประเทศต่างๆ 93 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ที่มีการดำเนินออกกฎระเบียบและกำหนดมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตร อินทรีย์ในประเทศแล้ว ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ส่วนใหญ่แตกต่างกัน และมีปัญหาในเรื่องการยอมรับซึ่งกันและกันส่งผลให้ หน่วยตรวจรับรองแต่ละแห่งต้องขอการขึ้นทะเบียนตามกฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะได้สามารถให้บริการตรวจสอบรับรองกับผู้ผลิต-ผู้ประกอบการเกษตร อินทรีย์ได้ ซึ่งการขึ้นทะเบียนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ผลิต-ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ รับรองที่สูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้การค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศขยายตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

ที่ผ่านมา หน่วยงานระหว่างประเทศที่ได้ร่วมมือกัน จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ ITF (International Task Force on Harmonization and Equivalence in Organic Agriculture) ได้พัฒนากลไกในการสร้างการยอมรับความเท่าเทียมของข้อกำหนดมาตรฐานและการตรวจ สอบรับรองขึ้น โดยจัดทำเป็นเครื่องมือ 2 ชุด คือ “เกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์” (International Requirements for Organic Certification Bodies – IROCB) และ “แนวทางในการประเมินความทัดเทียมของมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคเกษตร อินทรีย์” (Guide for Assessing Equivalence of Organic Standards and Technical Requirements – EquiTool) เพื่อใช้ในการเจรจาสร้างการยอมรับมาตรฐานและระบบเกษตรอินทรีย์อื่น ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน หรือให้ผลสำริดเดียวกันได้ โดยทาง IFOAM อยากจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นแกนในการริเริ่มกระบวนการเจรจา เพื่อหาความทัดเทียมกันของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำ โขง โดยเฉพาะประเทศจีน เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งในภูมิภาคเอเชียและ ภูมิภาคอื่นๆ