มูลนิธิสายใยแผ่นดินนำเสนอ “กองทุนสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในฐานะผู้ให้บริการด้านนิเวศ” ในเวที สสส. ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555

เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2555

เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2555 จัดโดย สำนำงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ -3มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. เพื่อสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือ
  2. เพื่อพัฒนาข้อตกลงร่วมระดับเครือข่ายในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสู่ปฏิบัติการของชุมชนที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ขยายผล
  3. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแกนนำชุมชนมีภาวะผู้นำที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

 

ผู้เข้าร่วมงานมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3,500 – 4,000 คน มาจากเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 1,200 องค์กร สถาบันการศึกษา 8 สถาบัน อีกทั่งองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน หน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานปฏิรูป สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นต้น

ในงานนี้มีเป้าหมายที่จะนำเสนอนโยบายสาธารณะ 7 ประเด็นเพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ คือนโยบายด้าน 1)การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม 2) การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน 3) การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 4) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5) เกษตรกรรมยั่งยืน 6) การดูแลสุขภาพชุมชน และ 7) การจัดการภัยพิบัติ โดยการนำเสนอนโยบายทั้ง 7 ประเด็นผ่านกิจกรรม 3 ลักษณะด้วยกันคือ 1) เวทีชี้นำ ซึ่งเป็นกิจกรรมให้ข้อมูลและกระตุ้นชุมชนท้องถิ่นมีการเตรียมความพร้อมที่จะต้องรับมือหรือเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการจัดระเบียบขององค์กรโลก 2) เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อสาระสำคัญในปฏิญญาว่าด้วยนโยบายสาธารณะทั้ง 7 ประเด็นของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ 3) การฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) การบริหารจัดการของตำบลศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสี่มิติ 2) เครื่องมือการวิจัยชุมชนเชิงชาติพันธุ์วรรณาแบบเร่งด่วน (Rapid Ethnographic Community Assessment Process; RECAP) และ 3) ระบบข้อมูลตำบล (Thailand Community Networks Appraisal Program : TCNAP)

ในงานนี้มูลนิธิสายใยแผ่นดินได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมนำเสนอในหัวข้อเรื่อง “กองทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” ภายใต้นโยบายที่ 5 “เกษตรกรรมยั่งยืน”  โดย ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ตัวแทนมูลนิธิได้นำเสนอประเด็นเรื่อง “กองทุนสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ในฐานะผู้ให้บริการด้านนิเวศ” ซึ่งมีเนื้อหาที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีต่อภาคเกษตรในประเทศไทย โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในบรรยากาศ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ความแปรปรวนของฝน และความรุนแรงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลเสียต่อระบบการผลิต ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งเนื้อหาที่กล่าวถึงเกษตรอินทรีย์ช่วยลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ใช้สารเคมีและลดการใช้พลังงานในระบบการผลิต ช่วยเพิ่มการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ในดินด้วยการใช้อินทรีย์วัตถุปรับปรุงดิน การปลูกพืชหมุนเวียนและไม้ยืนต้น เป็นต้น นอกจากนี้แล้วการทำเกษตรอินทรีย์ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรปรับตัวรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าเกษตรกรทั่วไปอีกด้วย โดยที่คุณภาพดินในแปลงเกษตรอินทรีย์จะมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงกว่าแปลงเกษตรทั่วไป ทำให้พืชผลของเกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศที่รุนแรง และด้วยความใส่ใจอย่างพิถีพิถันของเกษตรกรที่มีต่อแปลงเกษตรอินทรีย์ของตนทำให้เกษตรกรสามารถพัฒนาความรู้และทักษะในการทำการเกษตรและเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ค่อย ๆ คุกคามอย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดเรื่องการ จ่ายค่าบริการทางนิเวศ (Payment of Ecosystem Service) ทางด้าน 1) อนุรักษ์/ รักษาดิน และน้ำ(ทั้งปริมาณ และคุณภาพ) 2) การตรึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 3) การอนุรักษ์/ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ได้ตอบโจทก์ทั้งหมดของการให้บริการทางนิเวศ ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้เกิดกองทุน หรือการจ่ายค่าบริการทางนิเวศให้กับผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ซึ่งที่มีแนวทางการจ่ายอยู่ 3แนวทางด้วยกันคือ 1) การจ่ายเงินอุดหนุนโครงการ โดยรัฐเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด 2)การจ่ายโดยผู้บริโภค หรือภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการบริการทางนิเวศนั้น ๆ (ยังมีปัญหาในการคำนวน ว่าจะจ่ายอย่างไร) และ 3) เก็บกักและขาย (Cap and Trade) สำหรับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแนวทางที่ 1 น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าบริการทางนิเวศให้กับผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน