กิจกรรมชมสวน “รักษ์ ณ คลองจินดา”

ชุมชน ชาวสวนคลองจินดา ร่วมกันจัดงานรักษ์ ณ คลองจินดา ขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2554  เพื่อเป็นการคืนข้อมูล องค์ความรู้ในการรับมือกับโลกร้อน อย่างมีระเบียบแบบแผน ให้กับชุมชน โดย ครั้งนี้ ในช่วงเช้า ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชมสวน ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องการปรับตัวฯ  4 สวน ด้วยกัน ซึ่งแต่ละสวนจะมีกิจกรรมเด่นที่แตกต่างกัน ออกไป คือ สวนที่ 1 เป็นสวนคันล้อมย้อนยุค  สวนที่ 2 คือ สวนผักปราบราบรื่น  สวนที่ 3 คือ  สวนเตยหอม 2007  (เปลี่ยนจากสวนฝรั่งมาเป็นปลูกเตยหอม ปี 2007 เพราะน้ำท่วมบ่อยจึงต้องมีการปรับตัว) สวนที่ 4 คือ สวนผักห้าสหาย ได้แก่ ย่านาง อ่อมแซ่บ หญ้าปักกิ่ง ใบบัวบก และ  ในแต่ละสวนจะมีรูปแบบการดูแลและการจัดการผลผลิต ที่แตกต่างกันออกไปโดยเน้นที่การลดการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาใช้วิธีทางชีวภาพ ไปจนถึงสวนเกษตรอินทรีย์ 100%

จากนั้นในช่วงเย็น ทางชุมชนคลองจินดา มีการจัดเวที คืนข้อมูลการปรับตัวสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาของโลกร้อน และ ต้องเตรียมปรับตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยชุมชนคลองจินดา ส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรชาวสวนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี เนื่องจากมีรายได้ดีจากการทำสวนผลไม้และสวนผักต่างๆ  แต่ปัญหาที่เจออยู่บ่อยครั้ง คือ ปัญหาน้ำท่วม ใน3 ลักษณะ คือ น้ำเหนือ น้ำฝนและน้ำทะเลหนุน  เมื่อภาวะอากาศที่ร้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ปัญหาที่มีอยู่เดิมคือ น้ำท่วมสวน จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้น เพราะการทำคันล้อมสวนต้องคอยยกให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมสวน อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาน้ำท่วมแล้ว ที่พื้นที่นี้ ยังประสบปัญหาที่มาจากสภาพอากาศแปรปรวนแบบใหม่ คือ ลมกระโชกแรงผิดปกติ จนทำให้กิ่งไม้ ต้นไม้ในสวนหักโค่นได้ง่ายต้นทุนในการบำรุงรักษาต้นไม้ในสวนจึงเพิ่มขึ้น  ส่วนสภาพอุณหภูมิที่สูงขึ้น ร้อนขึ้น ยังส่งผลต่อการติดดอกออกผลของพืชหรือผลไม้ในสวนด้วย บางคนหากปรับตัวไม่ทัน ก็จะสูญเสียรายได้เนื่องจากผลผลิตลดลง

เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว ชุมชนคลองจินดาเป็นชุมชนที่มีต้นทุนพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ(ทุนและตลาด) สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สูงอยู่แล้ว ดังนั้น ศักยภาพในการปรับตัวจึงมีอยู่มากในระดับครัวเรือนแต่การดำเนินการในระดับชุมชน ยังต้องมีการพัฒนาและประสานความร่วมมือกับองค์กรหรือหน่วยงานท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับตัวรับมืออย่างมีแบบแผนของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป