พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย

พายุหมุนเขตร้อนมักเกิดบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือในทะเลจีนใต้ ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน  แต่โดยมาก พายุนี้มักอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นหรือสลายตัวกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเสียก่อน เนื่องจากพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดินจะอ่อนกำลังลงเมื่อปะทะกับลักษณะภูมิประเทศเทือกเขาสูงแถบประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเทือกเขาชายแดนของประเทศไทยเสียก่อน

แต่ก็อาจมีพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในเขตมหาสมุทรอินเดียได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ค่อยพบว่าเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบ่อยมากนัก หรือที่เคลื่อนเข้ามาก็มักอ่อนกำลังลงมาก เนื่องจากพายุพัดผ่านสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย มีแนวเทือกเขาสูงชัน ทอดตัวยาวตลอดแนว ซึ่งเป็นแนวกันพายุได้ดี  ส่วนทางด้านภาคใต้ ฝั่งทิศตะวันออกไม่มีแนวกำลังดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายจากพายุได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม  ตัวอย่างเช่น พายุใต้ฝุ่นเกย์ ที่พัดเข้าทางด้านภาคใต้ทางด้านฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศเมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ทำให้เกิดความเสียหายกับภาคใต้ฝั่งตะวันออกเป็นอย่างมาก

โดยทั่วไปประเทศไทยมักจะได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นมากที่สุด โดยเฉลี่ยปีละ 3 – 4 ลูก  สำหรับการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทยโดยปกติ มักเกิดในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จนถึงเดือนตุลาคม โดยอาจเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย หรือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ดังนี้
1.ช่วงเดือนพฤษภาคม ก่อนเข้าฤดูฝนอาจจะมีพายุไซโคลนจากอ่าวเบงกอล เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านทิศตะวันตก ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันตกของประเทศ
2. ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน อาจจะมีพายุใต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกพัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
3. ช่วงเดือนกันยายน ถึง ปลายเดือนตุลาคม อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีผลกระทบต่อภาคตะวันออก ภาคกลางภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมทั้งเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4. สำหรับช่วงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม มักจะมีความกดอากาศต่ำในตอนล่างของทะเลจีนใต้พัดผ่านเข้ามาในอ่าวไทย ทำให้มีผลกระทบต่อภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป