กรีนเนทเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำ หน้าที่ด้านการตลาด เชื่อมประสานระหว่างเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มธุรกิจชุมชน และผู้บริโภค โดยเน้นการส่งเสริมและเผยแพร่แนวทางเกษตรกรรมอินทรีย์และพัฒนากระบวนการตลาด ทางเลือก สร้างความมีส่วนร่วมของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมการผลิตในลักษณะของการรวม กลุ่มธุรกิจชุมชนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรวบรวมและคัดสรรผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยดำเนินงานในรูปแบบของศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิเช่น ข้าว, ธัญพืช, ผักผลไม้, ชาสมุนไพร, อาหารแปรรูปต่างๆ รวมทั้งผ้าทอพื้นเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม

สหกรณ์กรีนเนท จำกัด เดิมชื่อ “ร้านสหกรณ์อาหารธรรมชาติ จำกัด” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ต่อมามีการขยายกิจการดำเนินงานให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ สหกรณ์กรีนเนท จำกัด ” ตามพระราชบัญญัติ สหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 สหกรณ์กรีนเนท จำกัด ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์,ผลิตภัณฑ์ผ้าเพื่อสิ่ง แวดล้อม และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพสูง ในลักษณะของศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) สหกรณ์กรีนเนท จำกัด มีนโยบายในการดำเนินการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) โดยทำการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

ประวัติโดยย่อ

  • กุมภาพันธ์ 2537 ประชาชนผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพได้ประชุมร่วมกันแล้วมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์
  • 7 ตุลาคม 2537 ยื่นขอความเห็นชอบในการจัดตั้งสหกรณ์ โดยมีสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 51 คน ซึ่งสนใจที่จะเข้าร่วมถือหุ้นครั้งแรก 3,340 หุ้น เป็นเงิน 334,000 บาท
  • 25 พฤศจิกายน 2537 ได้รับการจดทะเบียน “ร้านสหกรณ์อาหารธรรมชาติ จำกัด” จากนายทะเบียนสหกรณ์ โดยมีเลขทะเบียนสหกรณ์ ที่ ร. 060637 และเลขทะเบียนข้อบังคับที่ ร. 104637
  • 16 กุมภาพันธ์ 2538 ประชุมใหญ่สามัญครั้งที่หนึ่งของร้านสหกรณ์อาหารธรรมชาติจำกัด
  • 9 ตุลาคม 2538 ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2538
  • 11 ธันวาคม 2538 ยื่นขอจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ
  • 15 ธันวาคม 2538 ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ทะเบียนเลขที่ ข.141
  • 25 ธันวาคม 2538 เริ่มดำเนินการส่งออกข้าวแฟร์เทรดและเกษตรอินทรีย์ไปจำหน่ายที่ยุโรป และเปิดดำเนินการขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
  • 11 พฤศจิกายน 2543 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2542/43 มีมติให้แก้ไขชื่อเป็น “สหกรณ์กรีนเนท จำกัด” และเปลี่ยนประเภทจากสหกรณ์ร้านค้าเป็น “สหกรณ์บริการ”

 

วิสัยทัศน์และภารกิจ

วิสัยทัศน์

เป็นผู้นำในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิด “วิถีชีวิตแบบเกษตรอินทรีย์” (Organic Way of Life) และ ”ระบบการค้าที่เป็นธรรม” (Fair Trade)

 

ภารกิจ

  1. ส่งเสริมวิถีชีวิตเกษตรอินทรีย์ โดยการทำการตลาดและการผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติคุณภาพสูง
  2. ดำเนินการให้ผู้ผลิตและผู้ร่วมค้าได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม เจริญเติบโตไปพร้อมกับองค์กร มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสังคมและสิ่งแวดล้อม
  3. สนับสนุนและส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะของธุรกิจชุมชน เพื่อทำการผลิตผลิตภณฑ์เกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง และปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
  4. ถ่ายทอดและแผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า และพัฒนาขององค์กร ไปสู่สาธารณะชน
  5. รณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และการค้าที่เป็นธรรม
  6. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน พนักงานมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญขององค์กร ทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน มีความสุขในการทำงาน ได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการอย่างเหมาะสม
  7. มุ่งมั่นในการสร้างความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่องให้กับองค์กร สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น จัดสรรผลตอบแทนอย่างเหมาะสม
  8. เป็นองค์กรต้นแบบของ “องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม” ในการผลักดันให้หน่วยธุรกิจอื่นหันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

แนวนโยบายปฏิบัติด้านการค้าที่เป็นธรรม

กรีนเนทยึดถือหลักการ “การค้าที่เป็นธรรม” ในการทำธุรกิจการผลิต แปรรูป และการค้า หลักการค้าที่เป็นธรรมนี้เป็นไปตามหลักการแฟร์เทรดของ World Fair Trade Organization

(ก) ให้ความสำคัญกับเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย

ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและเกษตรกรโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อยที่ใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลักกรีนเนทจึงมีนโยบายในการทำงานร่วมกับเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยเป็นหลักโดยในการทำงานนี้กรีนเนทจะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยเพื่อทำการผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ กรีนเนทยังเล็งเห็นความจำเป็นที่เกษตรกรรายย่อยจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นของตนเอง เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างอำนาจในการต่อรอง ในการรวมตัวกันของเกษตรกรนี้ กรีนเนทจะสนับสนุนให้กลุ่มดำเนินธุรกิจในลักษณะของธุรกิจชุมชน

 

(ข) นโยบายคุณภาพ

กรีนเนทมุ่งมั่นในการทำงานอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพราะคุณภาพเป็นกุญแจของความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว ความพึงพอใจของลูกค้า ในการที่ได้รับบริการ หรือได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ เป็นตัวชี้วัดคุณภาพการทำงานของกรีนเนท
กรีนเนทได้ริเริ่มจัดทำระบบบริหารคุณภาพ ตลอดห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ และเป็นไปตามเป้าหมายคุณภาพที่กำหนดขึ้น โดยเป้าหมายคุณภาพนี้ ไม่ใช่เฉพาะแค่การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ทุกขั้นตอนของการทำงาน จะต้องเป็นไปตามระบบบริหารคุณภาพด้วยเช่นกัน กล่าวคือ

  • เจ้าหน้าที่ในทุกระดับ (ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จนถึงระดับบริหาร) จะต้องมีแนวคิดและความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างมีคุณภาพ
  • การทำงานจะต้องมีการบันทึกรายละเอียดและขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ในกรณีที่พบกับปัญหา
  • องค์กรจะต้องสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของการทำงานในอดีต และจัดทำมาตรการที่จะป้องกันข้อผิดพลาดดังกล่าว มิให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
  • เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างมีความสุข และมีความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงมีสุขภาพที่ดีด้วย

 

(ค) ความสัมพันธ์ทางการค้าระยะยาว

กรีนเนทสนใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาว ในลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจ ที่กรีนเนทและผู้ร่วมค้าเคารพซึ่งกันและกัน และเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ตลอดจนมีการจัดสรรผลประโยชน์ทางการค้าอย่างทัดเทียม ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามวิกฤต

 

(ง) ราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกรและผู้ผลิต

กรีนเนทให้ความสำคัญกับการประกันราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยการกำหนดราคาประกันจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนในการผลิต และเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการกำหนดระดับราคาประกัน รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับคุณภาพของผลผลิตที่รับซื้อ

 

 

impacts

ผลลัพท์/ผลกระทบ

(1) รายงานการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม โครงการมะพร้าวเกษตรอินทรีย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์, ส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลผลลัพธ์างสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคม และจัดทำกรณีศึกษานำร่อง โดยสฤณี อาชวานันทกุล และคณะ (ธันวาคม 2560) [download]

We Are Greennet

ทีมงาน

Profile

ผลงานที่ผ่านมา

ปี 2555

  • ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ จากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้การส่งออกข้าวออร์แกนิค-แฟร์เทรดลดลง แต่ตลาดภายในประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น  ยอดขายรวมของสหกรณ์ฯ จึงยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • ตัวแทนสหกรณ์กรีนเนทได้รับเชิญเป็นคณะทำงานระบบรับรองใหม่ขององค์กรแฟร์เทรดสากล (World Fair Trade Organization) เพื่อจัดทำมาตรฐานแฟร์เทรดและระบบการตรวจรับรอง สำหรับองค์กรสมาชิกที่ต้องการใช้ตราแฟร์เทรดกับสินค้าของตัวเอง

ปี 2554

  • เริ่มจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์กรีนเนท เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกให้มีปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพและราคาเป็นธรรม
  • ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพในช่วงปลายปี แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสหกรณ์ฯ มากนัก ยอดขายโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ลดลง
  • สหกรณ์ฯ ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินริเริ่มแปรรูปฝ้ายเกษตรอินทรีย์มาเป็นเสื้อยืดฝ้ายออร์แกนิค เพื่อจำหน่ายในประเทศ
  • ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์แฟร์เทรดในประเทศเบลเยี่ยม ร่วมกับ Oxfam Belgium

ปี 2553

  • รื้อฟื้นโครงการสับปะรดเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดกับกลุ่มเกษตรกรที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ โดยเริ่มจากการทำสับปะรดแฟร์เทรดส่งออกไปอิตาลี และพัฒนาเทคนิคการปลูกสับปะรดเกษตรอินทรีย์ร่วมกับเกษตรกร
  • มูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดเพิ่มขึ้น 18% แม้ว่าสหภาพยุโรปประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศอย่างรุนแรง
  • ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ริเริ่มโครงการ “กาแฟอินทรีย์รักษาป่า” กับกลุ่มชาวบ้านประมาณ 100 ครอบครัว ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการตลาดให้กับเกษตรกร รวมทั้งช่วยในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
  • ได้เปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินแฟร์เทรดมาเป็นระบบกลาง ที่จัดการโดยสหกรณ์กรีนเนทเอง

ปี 2552

  • ร่วมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องข้าวเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดที่ประเทศอิตาลี ร่วมกับ CTM Altromercato (21 – 28 ต.ค. 52)
  • ร่วมออกร้านงานแสดงสินค้า 2009 Uljin Organic Expo ที่ประเทศเกาหลี (24 – 28 ก.ค. 52)
  • เริ่มทำการตลาดส่งออกน้ำส้มสายชูเกษตรอินทรีย์ แฟร์เทรด ซึ่งผลิตจากข้าวหอมมะลิหัก โดยน้ำส้มได้รับการรับรองทั้งมาตรฐานทั้งเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดด้วย
  • เริ่มเข้าเป็นสมาชิก World Fair Trade Organization – Asia (WFTO-Asia) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552

ปี 2551

  • ร่วมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องข้าวเกษตรอินทรีย์แฟร์เทรดที่ประเทศออสเตรีย ร่วมกับ EZA (11 – 1 9 ก.ย. 51)
  • เปิดดำเนินการโรงบรรจุข้าว สหกรณ์กรีนเนท ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์ ยโสธร ซึ่งสามารถบรรจุข้าวได้ประมาณวันละ 2,000 กิโลกรัม

ปี 2550

  • เริ่มทำการตลาดกระทิเกษตรอินทรีย์ โดยการส่งออกไปตลาดแฟร์เทรดในต่างประเทศ
  • สหกรณ์ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินจัดซื้อที่ดินจำนวน 20 ไร่ บริเวณบ้านดอนมะยาง ตำบลแคนน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว ยโสธร เพื่อจัดทำเป็นโรงบรรจุข้าวเกษตรอินทรีย์ และศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์
  • ร่วมกับหน่วยงานเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมในประเทศ ก่อตั้งเครือข่าย “ไทยแฟร์เทรด ฟอรั่ม”

ปี 2549

  • เข้าร่วมการรณรงค์ให้ความรู้กับผู้บริโภคใน ประเทศเบลเยี่ยม เกี่ยวกับการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม ในช่วงระหว่างวันที่ 15 -20 มีนาคม
  • ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหน่วยงานผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน

ปี 2548

  • ต้อนรับผู้สื่อข่าวจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และจากประเทศแคนาดา ที่มาประเทศไทย เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับข้าวเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรด
  • ร่วมกับหน่วยงานเอกชนที่ประกอบการค้าเกษตร อินทรีย์ จัดตั้งสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ โดยตัวแทนจากสหกรณ์กรีนเนทได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของสมาคม
  • เข้าร่วมการรณรงค์ข้าวเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดใน ประเทศสเปน ในช่วงเดือนธันวาคม โดยผู้จัดการของสหกรณ์ฯ ได้เข้าร่วมการณรงค์ครั้งนี้ด้วย

ปี 2547

  • เข้าร่วมการรณรงค์ข้าวเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดใน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเบลเยี่ยม ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม โดยมีตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดยโสธร (นายทองอวน เทศไท) เข้าร่วมการณรงค์ครั้งนี้ด้วย
  • เป็นเจ้าภาพรับรองคณะผู้สื่อข่าวจากประเทศเบล เยี่ยม 25-29 สิงหาคม โดยการประสานงานของกลุ่ม Max Havellar เบลเยี่ยม เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับข้าวเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรด
  • เข้าร่วมการรณรงค์ต่อต้านการอนุญาตให้มีการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม ร่วมกับชมรมผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ
  • ทางสหกรณ์ และมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และมูลนิธิเกษตรยั่งยืน และองค์กรอื่นๆ จัดกิจกรรม “มหกรรมเกษตรยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤศจิกายน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้กับสังคมได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ เกษตรยั่งยืน

ปี 2546

  • เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์การค้าที่เป็นธรรมนานาชาติ (International Fair Trade Association -IFAT) ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานในเรื่องแฟร์เทรดระหว่างประเทศ สมาพันธ์ฯ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรแฟร์เทรดที่เป็นสมาชิก
  • เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเกษตรอินทรีย์นานาชาติ ร่วมกับองค์กับองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน ในระหว่างวันที่ 2 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 36 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยการประชุมและสัมมนาทั้งหมด 4 กิจกรรม คือ
  • (1) การสัมมนานานาชาติ เรื่อง “ความยุติธรรมในเกษตรยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน โดยมีองค์กรร่วมจัดคือ มูลนิธินานาชาติเพื่อการพัฒนาชนบท(Rural Advancement Foundation International) และโครงการความยุติธรรมทางสังคมในเกษตรยั่งยืน (Social Accountability in Sustainable Agriculture – SASA)
  • (2) การสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) และสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ในระหว่างวันที่ 3 – 5 พฤศจิกายน
  • (3) การค้าเกษตรอินทรีย์นานาชาติ ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ในระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน
  • (4) การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ตลาดท้องถิ่น” ร่วมกับสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM)

 

ปี 2545

  • สหกรณ์กรีนเนท จำกัด ได้รับการรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดข้าวเป็นรายแรก
  • ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และประชาสังคม จ.ยโสธร, ส่วนราชการ จ.ยโสธร, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดงาน “วันข้าวอินทรีย์ไทย” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และตัวอย่างจริงในการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของชาว นาในยโสธรกว่า 200 ครอบครัว เพื่อขยายผลให้กว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้นทั้งภายใน จ.ยโสธร และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน รวมทั้งให้ประชาชนและสังคมไทยเกิดความตื่นตัวและเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมากขึ้น

ปี 2544

    สหกรณ์กรีนเนท จำกัด และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในโครงการผ้าทอเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมเกี่ยวกับการทอผ้ามะเกลือและผ้าคราม

ปี 2543

    สหกรณ์กรีนเนท จำกัด ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน จัดทำ “โครงการรณรงค์ผ้าทอเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อรณรงค์เผยแพร่และให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องผ้าพื้นบ้านย้อมสี ธรรมชาติ ในหลากหลายมิติและแง่มุม เช่น เส้นใยธรรมชาติ, สีธรรมชาติดั้งเดิม นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ผ้าพื้นเมือง อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของตลาดผ้าทอพื้นบ้านย้อมสีธรรมชาติได้ในที่สุด

ปี 2542

  • จัดเสวนาให้แก่ผู้ประกอบการร้านกรีน “ร้านกรีนกับการตลาดเชิงรุก” และ “หนทางร้านกรีนยุควิกฤตเศรษฐกิจ”
  • จัดงาน “กึ่งทศวรรษกรีนเนท” เพื่อทบทวนสรุปบทเรียน และ ประสบการณ์ ในการดำเนินงานของกรีนเนท ในฐานะองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกและตลาดทางเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต ร้านค้ากรีน องค์กรพัฒนาเอกชน ในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายผู้บริโภค รวมถึงนักวิชาการและผู้บริโภค
  • จัดอบรมเสริมทักษะ “การทำปุ๋ยหมักและโบคาชิ” และทัศนศึกษาดูงานให้กับผู้นำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ของค์กรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ณ ศูนย์ผลิตปุ๋ยหมักแซงไค ประเทศมาเลเซีย

ปี 2541

  • จัดกิจกรรมอบรม “แนวทางการดำเนินงานร้านค้าปลอดสารเคมี” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจที่จะทำกิจการร้านค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและ สิ่งแวดล้อม
  • จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านกรีนเรื่อง “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร”
  • วารสาร “กรีนเนท” สื่อกลางสำหรับผู้บริโภค รายสองเดือน เพื่อเผยแพร่แนวคิดและความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผลผลิต ตลอดจนวิถีการบริโภคเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ปี 2540

  • ร่วมกับ โครงการกระดาษเพื่อต้นไม้ และมูลนิธิสุขภาพไทย จัดกิจกรรมรณรงค์ผู้บริโภค “สัปดาห์ของขวัญสีเขียวเพื่อโลกสวย” เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องเกษตรทางเลือก ตลาดทางเลือก และจำหน่ายของขวัญปลอดสารพิษเพื่อต้อนรับเทศกาลปีร่วมกับโครงการพัฒนาองค์กรชุมชน จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรม “นิเวศสัญจรสู่แม่ทา” ณ กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษแม่ทา จ.เชียงใหม่ เพื่อนำผู้บริโภคในเมืองไปร่วมศึกษาและเยี่ยมเยียนกลุ่มเกษตรกร ซึ่งทำเกษตรกรรมทางเลือกและอนุรักษ์ป่าชุมชน รวมไปถึงกิจกรรม “ผู้บริโภคสัญจร เยี่ยมชมแปลงผักปลอดสารพิษ” ในปี 2540
  • ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมจัด “ทัวร์ผักปลอดสารเคมี : ปลูกผักเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม” ณ กลุ่มผักรักษ์สุขภาพ บ้านไผ่พันมือ ต.ดอนปรู จ.สุพรรณบุรี เพื่อให้ผู้บริโภคได้ชมการสาธิต ทดลองปลูกผัก เยี่ยมชมแปลงผักของเกษตรกร อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดกิจกรรม “ผู้บริโภคสัญจร เยี่ยมแปลงผักปลอดสารพิษ” ในปี 2540 และกิจกรรม “อบรมเชิงปฏิบัติการปลูกผักอินทรีย์” ในปี 2541
  • ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์แผนไทยในการ จัดพิมพ์หนังสือ “ภูมิปัญญาพื้นบ้านกับความหลากหลายทางชีวภาพ” และร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดทำปฏิทิน Green Calendar เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องการบริโภคเพื่อ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์แผ่นพับเรื่อง “การบริโภคเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” รวมทั้งข้อมูลทำเนียบร้านกรีน โดยเผยแพร่ตามจุดร้านค้าทางเลือกต่างๆ

ปี 2539

    ร่วมกับเครือข่ายเกษตรทางเลือก และ IFOAM-Asia เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และตลาดทางเลือก” โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอบทเรียนในการทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน และขบวนการตลาดทางเลือกในเอเชีย โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เนปาล, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา และประเทศไทย

ปี 2538

  • ร้านสหกรณ์อาหาร ธรรมชาติ จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวกับกองการค้าธัญพืช กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (ทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าว เลขที่ ข.141) รวมทั้งได้เริ่มการส่งออกข้าวไปสู่ตลาดในยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน และเบลเยี่ยม
  • เข้าร่วมประชุม IFOAM-Asia ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี และได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย
  • สมัครเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ซึ่งกรีนเนทถือเป็นสมาชิกสามัญองค์กรแรกในประเทศไทย
  • ร่วมกับ เครือข่ายเกษตรทางเลือก จัดทำหนังสือ “มาตรฐานเกษตรทางเลือก” รวมทั้งได้จัดพิมพ์จุลสารข้อมูล 5 เรื่อง ได้แก่ มาตรฐานเบื้องต้น เกษตรอินทรีย์ของ IFOAM, ตลาดทางเลือก : บทเรียนจากญี่ปุ่น, ผักปลอดสารพิษ : มิ่งมิตรของคนเมือง, ระบบการวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนและจุดควบคุมในการแปรรูปอาหาร และคู่มือตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ปี 2537

  • เปิดร้าน “กรีนเนทช็อป” สาขาเสนานิเวศ เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายผลิตภัณฑ์สีเขียวสู่ผู้บริโภค
  • กรีนเนทร่วมกับมูลนิธิหมอ ชาวบ้านจัดกิจกรรม “อาหารปลอดสารเคมี : เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ณ สวนลุมพินี ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวกรีนเนทกับสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ปี 2536

    กรีนเนทเริ่มดำเนินการนำผล ผลิตจากกลุ่มชาวบ้านมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค อาทิ ผักปลอดสารพิษ จากกลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษแม่ทา จ.เชียงใหม่ และกลุ่มบ้านโคกโคเฒ่า จ.สุพรรณบุรี, น้ำตาลโตนด จากกลุ่มชาวบ้าน อ.สิงหนคร, กะปิ จากชาวบ้านบางสะกอม จ.สงขลา และน้ำมันงาปลอดสารเคมี จากกลุ่มชาวบ้านเชื้อสายไทใหญ่ บ้านปางหมู จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยมียุทธวิธีด้านการตลาดในระยะแรกหลายรูปแบบ เช่น “ตลาดนัดแบบเร่ขาย” ตามหน่วยงานราชการ อาคารสำนักงาน และองค์กรอีกหลายแห่ง รวมถึงระบบบริการสมาชิกส่งตรงถึงบ้านและที่ทำงาน ตลอดจนการจัดจำหน่ายสินค้าสีเขียวผ่านร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด