20 ปี กองทุนข้าว – 20 ปี กรีนเนท

เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ผมได้มาที่จังหวัดสุรินทร์เป็นครั้งแรก ซึ่งในขณะนั้น ผมยังทำงานอยู่ที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กับท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก โดยผมได้รับมอบหมายให้ทำงานพัฒนาแผนงานเกี่ยวกับ “ตลาดทางเลือก-เกษตรทางเลือก” ของทางสถาบันอยู่

วันนี้ (25 เม.ย. 56) ผมได้มาที่สุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาร่วมงาน “ย้อนอดีต มองอนาคต 20 ปีกองทุนข้าวสุรินทร์” (ปัจจุบัน กองทุนข้าวสุรินทร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์”) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์กับการค้าที่เป็นธรรม (แฟร์เทรด) ซึ่งเป็น theme หลักของการทำงานของสหกรณ์ฯ นี้

มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ที่หลายคนหลงลืมหรือเข้าใจผิด เกี่ยวกับการก่อกำเนิดของเกษตรอินทรีย์และกองทุนข้าว ซึ่งเผอิญผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นี้  ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้สำคัญมาก เพราะเป็นจุดผลิกผันหนึ่งของกรีนเนทด้วย (จากเดิมที่กรีนเนทตั้งใจจะทำเรื่องตลาดทางเลือกเฉพาะในประเทศไทย แต่การเข้ามาช่วยงานกับกลุ่มที่สุรินทร์นี้ ทำให้กรีนเนทต้องขยายขอบเขตการทำงานไปเรื่องตลาดต่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาเรื่องเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วย (ซึ่งเรื่องนี้ จะหาเวลามาเขียนเล่าให้ฟังภายหลัง)

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ จุดก่อเกิดของเรื่อง เริ่มต้นที่ประมาณปี 2533 ทางหน่วยงาน OS3 (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Claro Fair Trade) จากสวิสเซอร์แลนด์ ได้ส่งอาสาสมัคร (นายโลธา) เข้ามาเพื่อหาผู้ผลิตข้าวที่เป็นเกษตรกรรายย่อย เพื่อจะนำไปขายเป็นข้าวแฟร์เทรดในยุโรป  หลังจากทำการสำรวจกลุ่มต่างๆ นายโลธาได้เลือกที่จะทำงานกับกลุ่มสหธรรมเพื่อการพัฒนา (ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ ที่ทำงานกับมูลนิธิพิพิธประชานาถ ที่มี “หลวงพ่อนาน” เป็นหัวแรงหลัก) และต่อมาได้ขยายกลุ่มเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกร (คสป.) ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น “กลุ่มเกษตรธรรมชาติ” และกลุ่มโรงสีหนองบัว-ท่าตูม ที่ทำงานร่วมกับโครงการเสริมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชุมชน (ครพ.)
หลวงพ่อนาน (วิฑูรย์ผูกข้อมือในช่วงกิจกรรมบายศรี)
แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง การค้าระหว่าง OS3 และกลุ่มเกษตรกรทั้ง 3 ไม่อาจดำเนินการได้  ในปี 2537 ทาง OS3 จึงได้เสนอให้กรีนเนท (ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2536) ให้เข้ามารับผิดชอบโครงการข้าวแฟร์เทรดนี้แทน โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการค้าแฟร์เทรดร่วมกันระหว่างกรีนเนทและ OS3 ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงนี้ก็คือ การผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของข้าวเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้กรีนเนทต้องเริ่มงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เอง ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา รวมทั้งการขยายการทำโครงการข้าวอินทรีย์แฟร์เทรดไปที่จังหวัดยโสธร และการผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจรับรองมาตรฐาน

ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า ผู้จุดประกายแฟร์เทรดและเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มชาวบ้านในสุรินทร์ คือ หลวงพ่อนาน และ OS3 (Claro Fair Trade)

ในปี 2556 นี้ เป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีกรีนเนทด้วยเช่นกัน ซึ่งประวัติศาสตร์เมื่อ 20 ปีก่อนของ “กองทุนข้าว” เป็นประวัติศาสตร์ร่วมหนึ่งของกรีนเนทด้วย

วันนี้ นอกจากการได้เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ให้เพื่อนๆ และเกษตรกรที่สุรินทร์ได้ฟังแล้ว  ผมเองก็ตั้งประเด็นสำคัญสำหรับอนาคตของกองทุนข้าว ว่า “การเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” คือ “คาถา” สำหรับการดำรงอยู่ของกองทุนข้าว (และที่จริงก็ของกรีนเนทและองค์กรอื่นๆ ด้วย) โดยสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่จะมีผลต่ออนาคตคือ

  • ความผันผวนของสภาพอากาศ
  • การขาดแคลนแรงงานของภาคการเกษตร โดยเฉพาะจากปัจจัยเรื่องอายุของเกษตรกร
  • ความสลับซ้อนของมาตรฐานทางด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม และสังคม
  • องค์กร โดยเฉพาะการเป็น “สหกรณ์” ที่มีกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตขององค์กร
  • นโยบายของรัฐ ซึ่งอาจมีทั้งด้านบวกและลบ
  • การรับรู้และความสนใจของผู้บริโภค ที่ต้องการข้อมูลข่าวสารและความเป็นเฉพาะตัวมากขึ้น

ผมหวังว่า หลายคนจะใส่ใจที่จะวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง รวมทั้งค้นหาแนวทางในการที่จะรับมือ (เชิงรุก) กับความท้าทายเหล่านี้  มิฉะนั้น องค์กรที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์-แฟร์เทรดก็อาจจะเหลือเพียงแค่ชื่อในประวัติศาสตร์เท่านั้น