แฟร์เทรดไทยควรเน้นค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับผู้ผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อม: แฟร์ต่อผู้ผลิต, แฟร์ต่อผู้ประกอบการ, แฟร์ต่อผู้บริโภค, แฟร์ต่อสิ่งแวดล้อม
ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤษภาคเป็นวันแฟร์เทรดสากล ซึ่งเครือข่ายแฟร์เทรดทั่วโลกจะจัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ เพื่อเผยแพร่เรื่องแฟร์เทรด (การค้าที่เป็นธรรม)  ในประเทศไทย เครือข่ายแฟร์เทรดไทยได้ร่วมกันจัดงาน “ขับเคลื่อนแฟร์เทรดไทย: อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ในวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2556 ซึ่งมีผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ 30 คน

ในช่วงเช้า มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความหมายและหลักการ 10 ข้อของแฟร์เทรด ตามด้วยภาพรวมสถานการณ์เกี่ยวกับแฟร์แทรดโลกและในประเทศไทย  ดูข้อมูลเกี่ยวกับความหมายและหลักการแฟร์เทรดได้ที่ [link]

ในช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมเสวนา “2 ทศวรรษไทยคราฟท์และกรีนเนท: แฟร์เทรดในประเทศไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย คือ คุณสินี จักรธรานนท์ (มูลนิธิอโชก้า) คุณรสนา โตสิตระกูล (สมาชิกวุฒิสภา) และคุณชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์  (Civinet)

ในการเสวนานี้ ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกับวิทยากรกันอย่างน่าสนใจ ซึ่งโดยสรุป คือ จุดเริ่มต้นของขบวนการแฟร์เทรด (โดยเฉพาะในยุโรป) มาจากขบวนการแสวงหาใหม่ของคนรุ่นใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960-70 ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภายใต้กระแสแนวคิดที่มองว่า ประเทศ “โลกที่ 3” (ประเทศด้อยพัฒนา) นั้นเกิดขึ้นเพราะการค้าระหว่างประเทศที่เอารัดเอาเปรียบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการค้าใหม่ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น  ขบวนการแสวงหาใหม่ในยุโรปนี้ในอีกปีกหนึ่งก็ได้เข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง จนนำไปสู่การก่อตั้ง “พรรคกรีน” ของยุโรปนั่นเอง  ในปัจจุบัน กระแสแฟร์เทรดได้ทำให้เกิดกระแสการบริโภคอย่างมีจริยธรรมของผู้บริโภคในยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่ต้องการทราบที่มาและกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ และไม่ต้องการเห็นสินค้าและบริการที่มาผลิตโดยการเอารัดเอาเปรียบคนงาน (แม้ว่าจะเป็นคนงานในต่างประเทศก็ตาม) หรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ในประเทศไทย แม้ว่าสังคมไทยจะมี “ความเอื้อเฟื้อ/เอื้ออาทร” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่กระแสการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ/อย่างมีจริยธรรมนี้ดูเหมือนจะยังเกิดน้อยมาก เพราะการจะเลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรดนั้นเป็นการเลือกตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ที่ไม่ใช่ของตัวเอง (ประโยชน์ต่อผู้ผลิตรายย่อย, คนงาน, สิ่งแวดล้อม) แม้แต่การบริโภคอาหารออร์แกนิคเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นการบริโภคเพื่อตัวเอง (สุขภาพที่ดีขึ้น) ผู้บริโภคไทยก็ยังไม่ค่อยได้ให้ความใส่ใจมากนัก  ดังนั้น สิ่งที่เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนแฟร์เทรดในประเทศไทยจะต้องเริ่มต้นที่การสร้างความตระหนักรู้ในรเรื่องนี้  และในประเทศไทย ควรจะเลือกเน้นหลักการบางข้อของแฟร์เทรด (ที่มีอยู่ 10 หลักการ) สำหรับใช้รณรงค์กับผู้บริโภค เพื่อไม่ให้การสื่อสารกับผู้บริโภคซับซ้อนเกินไป โดยประเด็นที่สำคัญน่าจะเป็น หลักการเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม/สมเหตุสมผลสำหรับผู้ผลิต, หลักการเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อผู้ผลิต, และหลักการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (เพราะกระแสสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจสูงมาก)