แฟร์เทรดประเทศไทย: ผู้บริโภคไทยพร้อมหรือยัง
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 ได้มีความพยายามในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบแฟร์เทรดประเทศไทยขึ้น เพื่อกระตุ้นการขับเคลื่อนความรับผิดชอบทางสังคมของผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทย คู่ขนานไปกับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีหน่วยงาน 3 องค์กรหลัก คือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) องค์การอ๊อกแฟม และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท

คณะทำงานร่วมได้จัดประชุมย่อย เพื่อปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ประกอบการ มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558  และล่าสุด เมื่อ 30 มกราคมที่ผ่านมา คณะทำงานก็ได้จัดกิจกรรม “อย่ามา care มาเธอไม่ fair” ที่ Root Garden ซอยทองหล่อ โดยมีทั้งงานเสวนา ขายสินค้า และเวทีปรึกษาหารือ เกี่ยวกับมาตรฐานแฟร์เทรดไทย (ดาวน์โหลดเอกสารมาตรฐานได้จากข้างล่าง)

ในเบื้องต้น คณะทำงานได้ศึกษาระบบมาตรฐานแฟร์เทรดของหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก และได้ข้อสรุปว่า ระบบแฟร์เทรดขององค์กรแฟร์เทรดโลก (World Fair Trade Organization -WFTO) น่าจะเป็นระบบที่เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด เพราะเป็นระบบที่พิจารณาการทำธุรกิจของทั้งองค์กร ไม่เฉพาะการผลิตสินค้าบางรายการ

แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนแฟร์เทรดในประเทศไทยจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าผู้บริโภคไทยยังไม่พร้อมที่จะเลือกสนับสนุนธุรกิจและการผลิตที่มีความยั่งยืนและมีความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจหมายถึงการที่จะต้องจ่ายค่าสินค้าในราคาที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถมีเงินเพิ่มสำหรับใช้ในการพัฒนาตัวเอง กลุ่ม และชุมชนของตนเพิ่มขึ้น

Attachment ขนาด
TH-FT v2.pdf 175.49 KB