อียูเดินหน้าแก้ไขระเบียบเกษตรอินทรีย์
นับจากที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission) ได้นำเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบเรื่องเกษตรอินทรีย์เมื่อ 24 มีนาคม 2557 [อ่านข่าวก่อนหน้าได้ที่ “ท่าทีของ IFOAM อียู กับร่างกฏระเบียบใหม่เกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป“] ได้ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรปและทั่วโลก เพราะข้อเสนอของคณะกรรมาธิการจะเพิ่มภาระให้กับเกษตรอินทรีย์ทั้งในและนอกสหภาพยุโรป โดยประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงและไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก คือ (ก) การเสนอให้กำหนดระดับสูงสุดของการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตรที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะนำไปสู่การระงับหรือยกเลิกการตรวจรับรอง (ข) ความถี่ของการตรวจ (ค) การอนุญาตให้นำระบบการตรวจรับรองแบบกลุ่ม (ที่มีระบบควบคุมภายใน) มาใช้ในสหภาพยุโรป และ (ง) การเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป จากเดิมที่เป็นระบบความทัดเทียมของการตรวจรับรอง (equivalent approach) จะเปลี่ยนเป็นการนำระบบตรวจรับรองแบบสหภาพยุโรปไปใช้ทั่วโลก (compliance approach)

การถกเถียงและความไม่เห็นด้วยของหน่วยงานเกษตรอินทรีย์ในยุโรป รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางส่วนด้วย ก็ได้มีข้อเสนอใหม่จากหลายฝ่ายว่า ควรต้องมีการปรับเปลี่ยนข้อเสนอในการปรับปรุงระเบียบใหม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้มีมติล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้ดำเนินการพูดคุยต่อ เพื่อนำเสนอแนวทางการปรับปรุงระเบียบเกษตอินทรีีย์ใหม่ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่า การปรับปรุงระเบียบนี้จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่

สรุปจากข่าว “The new EU Regulation goes ahead” จดหมายข่าว The Organic Standards, ฉบับวันที่ 158/2015.