อีกก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของขบวนการผู้บริโภคในอเมริกากับการปิดฉลากสินค้าจีเอ็มโอ
วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 เป็นอีกวันหนึ่งที่ควรถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของขบวนการผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ในฐานะเป็นวันที่มีการออกหมายบังคับการติดฉลากจีเอ็มโอที่มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะเป็นวันที่ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอน นาย Peter Shumlin ได้ลงนามในกฏหมายกำหนดให้มีการบังคับปิดฉลากสินค้าที่มีส่วนผสมของจีเอ็มโอที่จำหน่ายในรัฐเวอร์มอน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2559 เป็นต้นไป

ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามผลักดันกฏหมายในลักษณะคล้ายกันในรัฐอื่น เช่น ที่รัฐคอนเนติกัทและ Maine แต่กฎหมายในสองรัฐนี้ไม่ได้ระบุวันที่จะบังคับใช้ โดยให้รอการออกกฏหมายในระดับประเทศก่อน (เพราะมีข้อกำหนดห้ามรัฐต่างๆ ออกระเบียบที่บังคับใช้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เข้มงวดกว่าระเบียบที่ออกโดยสาธารณรัฐ) หรือการณรงค์ผลักดันกฏหมายบังคับติดฉลากจีเอ็มโอในรัฐแคลิฟอร์เนียและวอชิงตัน แต่ก็แพ้การลงคะแนนประชามติ เพราะบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจจีเอ็มโอได้ร่วมกันลงขันทำโฆษณารณรงค์ต่อต้านร่างกฏหมายนี้

อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจจีเอ็มโออาจหาวิธีทางกฏหมายให้มียกเลิกกฏหมายของรัฐเวอร์มอนฉบับนี้ได้ ทำให้รัฐเวอร์มอนเตรียมการระดมเงินจำนวน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้เป็นกองทุนเพื่อต่อสู้ทางกฎหมายกับกลุ่มธุรกิจจีเอ็มโอ โดยทางรัฐได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ของรัฐบางส่วนและเตรียมระดมรับบริจาคจากผู้ที่สนับสนุนการบังคับติดฉลากจีเอ็มโอ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของกฏหมายบังคับติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอก็คือ การห้ามติดฉลากระบุสินค้าที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (natural) เพราะยังไม่มีการตีความทางกฏหมายว่า “ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ” หมายความว่าอย่างไร และผู้ผลักดันกฏหมายมีความเห็นว่า การดัดแปลงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นการผิดธรรมชาติ

ในอีก 34 รัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฏหมายในลักษณะเดียวกันที่อยู่ในการพิจารณาของสภาระดับรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า การออกกฏหมายของรัฐเวอร์มอนนี้น่าจะมีอย่างมากต่อการพิจารณาออกกฎหมายที่คล้ายกันในรัฐอื่น

สรุปจากบทความ “Momentum builds for GMO labelling in the US” โดย Grace Gershuny, GAIA Services ตีพิมพ์ในจดหมายข่าว The Organic Standard, issue 153/2014