อาหารทะเล-โครงการประมงพื้นบ้าน ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์แห่งแรกของประเทศไทย
สินค้าประมงอินทรีย์ ของโครงการประมงพื้นบ้าน – สัตว์น้ำอินทรีย์
ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ดำเนินการโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป ตั้งแต่ พ.ศ.2556  ได้ทำงานร่วมกับชุมชนประมงพื้นบ้าน 5 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลด้วยกัน คือ
1.แพปลาชุมชนบ้านแหลมผักเบี้ย ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
2.แพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน ต.ปากพะยูน อ.เกาะหมาก จ.พัทลุง
3.แพปลาชุมชนบ้านคูขุด ต.คูขุด อ.สะทิงพระ จ.สงขลา
4.แพปลาชุมชนบ้านหินร่ม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา
5.กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านแหลมสัก ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
ในปี 2558 ได้ขอรับรองมาตรฐานสินค้าประมงอินทรีย์ การจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นหน่วยตรวจรับรองที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองทั้งจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ทำการตรวจรับรองให้ ขณะนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว 12 ชนิด จาก 4 พื้นที่ ได้แก่ กุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำ ปลาขี้ตังหรือปลาตะกรับ กุ้งกุลาลาย ปลามิหลังหรือปลาดุกทะเล  ปลากระบอก  ปลาช่อน จากทะเลสาบสงขลา(จ.สงขลา และ จ.พัทลุง) และปูม้า ปลาทรายหรือปลาเห็ดโคน ปลาสากหรือปลาน้ำดอกไม้ ปลาสละ ปลากุเรา จากแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี รวมทั้งกุ้งแชบ๊วย จากอ่าวพังงา จ.พังงา
โดยมาตรฐานสินค้าประมงอินทรีย์การจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ตามเกณฑ์การรับรองของ มกท. คือ  ต้องเป็นสัตว์น้ำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความปลอดภัยต่อมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม การเกษตร หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางทะเล, สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใครเป็นผู้จับ และระบุแหล่งทำการประมงได้, ต้องไม่มีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นในขณะทำประมง การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค และที่สำคัญต้องมาจากการทำประมงด้วยวิธีที่รับผิดชอบต่อธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม เช่น การจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาใหญ่ ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือสัตว์น้ำที่มีไข่นอกเปลือกหรือกระดอง เป็นต้น
โครงการฯ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมคุณค่าของชาวประมงพื้นบ้านให้เป็นที่รับรู้ในสังคมไทยที่ได้สร้างสรรค์ในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ด้วยการทำประมงอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนมีใช้ไปถึงลูกหลาน และเพื่อเชิญชวนสาธารณชนที่เป็นทั้งผู้บริโภคอาหารทะเลและผู้ที่ชอบท่องเที่ยวทะเลให้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันอาหารทะเลอินทรีย์ของโครงการฯ  มีมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ทุกสุดสัปดาห์ที่เกทเวย์ เอกมัย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook:เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล https://www.facebook.com/pla.organic