องค์กรแฟร์เทรดสากล (Fairtrade International – FLO)

ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศของหน่วยงานแฟร์เทรดระดับประเทศ เพื่อจัดทำระบบมาตรฐานและการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในระดับสากลขึ้น เพราะในขณะนั้นหน่วยงานแฟร์เทรดระดับประเทศต่างคนต่างก็มีมาตรฐานและระบบการตรวจรับรองของตัวเอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการตรวจรับรองกับผู้ผลิต  FLO ในช่วงระยะแรกจะทำหน้าที่ทั้งการกำหนดมาตรฐานแฟร์เทรดและการตรวจรับรอง แต่ต่อมาในปี 2546 FLO ได้จัดตั้ง FLOCERT ขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อให้บริการตรวจรับรองแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ FLO ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานอยู่

ปัจจุบัน (31 ก.ค. 2558) FLO มีสมาชิก 19 หน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรระดับประเทศที่ทำงานส่งเสริมเรื่องแฟร์เทรด และเมื่อเป็นสมาชิก FLO ก็จะได้รับสิทธิในการอนุญาตให้ผู้ประกอบการใช้ตรารับรอง FLO รวมทั้งการกำกับติดตามด้วย แต่ก็มีบางหน่วยงานที่ให้บริการครอบคลุมหลายประเทศ (เช่น Fairtrade Australia and New Zealand ที่ทำงานทั้งในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หรือ Fairtrade Ibérica ที่ทำงานในสเปนและโปรตุเกส) รวมทั้ง FLO เองก็มีการตั้งสำนักงานสาขาในบางประเทศ เช่น บราซิล อินเดีย และเคนยา  นอกจากนี้ FLO ยังมีเครือข่ายผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดของตัวเองใน 3 ภูมิภาค คือ Fairtrade Africa ในแอฟริกา Coordinator of Fairtrade Latin America and the Caribbean (CLAC) ในลาตินอเมริกาและคาริบเบียน และ Network of Asia and Pacific Producers (NAPP) ในเอเชีย

FLO จะมีการประชุมใหญ่สมาชิกทุกปี ซึ่งที่ประชุมใหญ่นี้จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนงานต่างๆ ขององค์กร รวมทั้งการเลือกตั้งกรรมการ ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนโควต้าของกรรมการ (12 คน) ให้มีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ผลิต 4 คน จากตัวแทนองค์กรสมาชิก 4 คน และอีก 4 คนที่เป็นกรรมการอิสระ  FLO มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี

มาตรฐานแฟร์เทรดของ FLO แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ มาตรฐานองค์กร (ซึ่งมี 4 แบบ คือ กลุ่มผู้ผลิตรายย่อย การจ้างงาน การจ้างการผลิต และผู้ประกอบการค้า) และมาตรฐานสินค้า (เช่น น้ำตาลอ้อย ธัญพืช โกโก้ กาแฟ พืชเส้นใย ดอกไม้และไม้ประดับ ผลไม้สด ผักสด ทอง สมุนไพร-ชาสมุนไพร-เครื่องเทศ-พืชหอม น้ำผึ้ง ผลไม้เปลือกแข็ง พืชน้ำมัน ผักผลไม้แปรรูป ลูกบอล ชา ไม้ และผัก) รวมทั้งราคาขั้นต่ำและราคาแฟร์เทรดพรีเมี่ยมของผลผลิตต่างๆ ในแต่ละประเทศด้วย

นอกจากการกำหนดมาตรฐานแฟร์เทรดแล้ว FLO ยังมีส่วนงานที่ให้บริการสนับสนุนผู้ผลิตด้วย ซึ่งบริการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการฝึกอบรมเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการขอรับรองมาตรฐานแฟร์เทรด การเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับผู้ซื้อและตลาด ทุนสนับสนุนสำหรับเป็นค่าตรวจสอบรับรอง (ประมาณ 50-70% ของค่าตรวจรับรอง ขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มผู้ผลิต) ตลอดจนคู่มือและเอกสารคำแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขอตรวจรับรอง

ณ สิ้นปี 2557 FLO ได้ให้บริการตรวจรับรององค์กรผู้ผลิตแฟร์เทรด 1,210 องค์กร ใน 74 ประเทศ ซึ่งมีเกษตรกรและคนงานรวมกันกว่า 1.4 ล้านคน โดยในประเทศไทย ปัจจุบัน (31 ก.ค. 2558) มีผู้ผลิต 20 ราย และผู้ประกอบการค้า 17 ราย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FLOCERT โดยผลผลิตที่ได้รับการรับรองได้แก่ ข้าว กาแฟ น้ำตาลทราย มะพร้าว มะม่วง ลิ้นจี่ สับปะรด เป็นต้น