ลูกปลาทูกับแม่ปูไข่: หัวเลี้ยวหัวต่อของความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย

วันนี้ผู้เขียนอยากจะพูดถึงสัตว์ทะเลสองชนิดที่เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยมาช้านาน ชนิดหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเคยเป็นอาหารประจำชาติของคนไทยที่ไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับไหนก็สามารถหารับประทานได้ไม่ยากเพราะมีราคาย่อมเยาหาซื้อได้ง่าย อาหารชนิดนี้ก็คือ “ปลาทู”ส่วนชนิดที่สองเป็นอาหารทะเลราคาแพงส่วนใหญ่จะรับประทานกันในโอกาสพิเศษหรือเวลามีโอกาสไปเที่ยวทะเลที่เป็นแหล่งผลิตจริง ๆ อาหารที่ว่านี้ก็คือ “ปูม้า”

“ปลาทู”ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดและเจริญเติบโตในทะเลฝั่งอ่าวไทยมีวงจรชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายอยู่ในทะเลบริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงครามไล่ลงไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในอดีตที่ผ่านมาด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยทำให้ปลาทูเป็นอาหารราคาถูกแต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่คนไทยทุกคนสามารถหารับประทานได้ง่าย แต่ประมาณเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับราคาของเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ   ปลาทูกลับกลายเป็นอาหารราคาแพงสำหรับคนไทยที่มีรายได้น้อย และปลาทูที่ขายอยู่ในตลาดทั่วไปโดยส่วนใหญ่กลับเป็นปลาทูที่จับจากน่านน้ำประเทศอื่นไม่ใช่ปลาทูเนื้อนุ่ม หวานมันของบ้านเรา

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปลาทูไทยมีราคาแพงและหาซื้อได้ยากมากขึ้น คือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเลของไทยที่เกิดจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างระบบนิเวศ และจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ได้แก่ เครื่องมือประมงอวนลาก อวนรุน และเครื่องมือประมงประกอบแสงไฟชนิดต่าง ๆ เป็นต้น สัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกปลาทูที่ติดมากับอวนต่าง ๆ จะถูกขายไปยังโรงงานปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์ (ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสองประเทศทั่วโลกที่ผลิตปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก) เมื่อไม่นานมานี้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมานิยมบริโภคลูกปลาทูตากแห้งเพื่อเพิ่มแคลเซี่ยมให้กับร่างกาย ดังนั้นลูกปลาทูจึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ผู้เขียนมีความกังวลว่าถ้าพฤติกรรมการบริโภคลูกปลาทูที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่ถูกยับยั้งจะส่งผลให้ปลาทูสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทยในอีกไม่ช้า

อยากจะชวนผู้อ่านทุกท่านคำนวนการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจในการบริโภคลูกปลาทูกันว่ามีมากมายมหาศาลเพียงใดด้วยหลักคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ดังนี้ ถ้าเรารับประทานลูกปลาทู 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งมีลูกปลาทูประมาณ 1,000 ตัว แต่ถ้ารออีกประมาณ 6-7 เดือนให้ปลาเหล่านี้โตเต็มวัย จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 70 บาทในตลาดท้องถิ่น และประมาณ 80-120 บาทที่กรุงเทพ ฯ แล้วค่อยซื้อมารับประทานจะทำปลาทูเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70-80 เท่าตัว หรือโดยสรุปก็คือลูกปลาทู 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาทในวันนี้จะมีมูลค่าประมาณ 7,000-8,000 บาท ในระยะเวลา 6-7 เดือนข้างหน้า และถ้าเรือประมง 1 ลำจับลูกปลาทูเที่ยวละ 1 ตัน ก็จะทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000,000-8,000,000 บาท ต่อการทำประมง 1 เที่ยว (ในความเป็นจริงเรือประมงพานิชย์อวนล้อมปั่นไฟขนาดใหญ่จับได้หลายตันต่อเที่ยว และมีเรือประมงชนิดนี้หลายลำด้วยกันในน่านน้ำไทย) ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการจับลูกปลาทูมาบริโภคทุกวันนี้มีปริมาณหลายร้อยตันต่อปี ดังนั้นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปแต่ละปีมีจำนวนมหาศาลที่สังคมไทยไม่ควรยินยอมหรือส่งเสริมให้กิจกรรมการจับและการบริโภคลูกปลาทูให้ยังคงอยู่ต่อไป

ในทางกลับกัน “ปูม้า”ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่หาได้ยากกว่าปลาทู ทุกวันนี้ทุกกลับได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูจากชุมชนประมงชายฝั่งในหลาย ๆ พื้นที่เป็นอย่างดี ด้วยการจัดทำ “ธนาคารปูชุมชน” โดยมีการนำปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง (ไข่สีเหลืองอ่อนและเปลี่ยนเป็นสีเทาดำเมื่อไข่แก่) ที่จับได้โดยสมาชิกชุมชนมาปล่อยในกระชังที่สร้างไว้บริเวณชายฝั่ง หรือในถังหรือบ่อพักที่สร้างไว้บริเวณชายหาดหน้าหมู่บ้าน เพื่อให้แม่ปูม้าได้วางไข่ก่อนถูกนำไปขายหรือบริโภค ปูม้าที่มีไข่สีเทาอมดำจะปล่อยตัวอ่อนภายใน 1-2 วัน แม่ปูไข่นอกกระดอง 1 ตัวจะปล่อยตัวอ่อนประมาณ 250,000- 2,000,000 ตัวต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของไข่ที่แม่ปูแต่ละตัวมีอยู่ ไข่ปูม้า 1 กรัมมีปริมาณไข่ประมาณ 22,030 ฟอง

จากการคำนวนด้วยคณิตศาสตร์ง่าย ๆ ผู้เขียนพบว่าผลประโยชน์ทางเศรฐกิจที่คาดว่าจะได้รับจากธนาคารปูชุมชน 1 แห่งมีมูลค่ามหาศาล โดยมีรายละเอียดดังนี้ ถ้าอัตราการรอดของลูกปูที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลอยู่ที่ร้อยละ 1 เราก็จะได้ปริมาณปูในทะเลเพิ่มขึ้นประมาณ 2,500-10,000 ตัวต่อแม่ปูไข่ 1 ตัว ถ้าธนาคารปู 1 แห่งมีแม่ปูไข่นอกกระดอง  30 ตัวต่อเดือน หรือ 360 ตัวต่อปี จะพบว่าธนาคารปูนั้น ๆ สามารถเพิ่มประชากรปูม้าให้กับท้องทะลได้ปีละ 900,000 – 7,200,200 ตัว และถ้าชาวประมงจับปูม้าเหล่านี้เมื่อโตเต็มวัยขนาด 6 ตัวต่อ 1 กิโลกรัมไปขายกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวประมงเหล่านี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30-240 ล้านบาทต่อปี

การเปรียบเทียบสองกรณีข้างต้นชี้ให้เห็นว่าถ้าพฤติกรรมของคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ชาวประมงพานิชย์ และชาวประมงพื้นบ้านยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต ปลาทูอาจกลายเป็นสัตว์น้ำที่หายากและมีราคาแพงหรือสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย แต่ปูม้าอาจจะกลับกลายเป็นอาหารที่หาได้ง่าย และราคาถูกลงก็เป็นได้

ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทะเลไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางชีววิทยาของสัตว์ชนิดนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องไม่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฏหมายไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง และส่งเสริมให้เกิดการอนุรุกษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ตลอดจนการมีจิตสำนึกที่ดีของชาวประมงในการทำประมงอย่างรับผิดชอบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอีก และเคารพสิทธิของผู้อื่นอีกด้วย

 

สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ