ระบบชุมชนรับรอง PGS การรับรองแบบมีส่วนร่วม
ความเป็นมา

ระบบ “ชุมชนรับรอง” นี้เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง ที่เป็นการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง (first party certification) แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นการดำเนินการของผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกร (second party certification) แต่ไม่ใช่เป็นการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ (third party) โดยระบบชุมชนรับรองนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบการตรวจรับรองมากกว่าระบบการตรวจรับรองแบบอื่น

ระบบชุมชนรับรองนี้ริเริ่มขึ้นโดยสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM – Organic International กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อขายในท้องถิ่น เพราะระบบการตรวจสอบรับรองโดยองค์กรอิสระมีระเบียบข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวดที่สลับซับซ้อนและมากเกินความจำเป็นสำหรับการทำการตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่น (ความซับซ้อนของระเบียบข้อกำหนดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้ได้รับการยอมรับระบบการตรวจรับรอง ส่งผลให้หน่วยตรวจรับรองต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจรับรองที่สูงจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์)

นอกจากนี้ ด้วยระเบียบที่เข้มงวด ทำให้การตรวจรับรองของหน่วยงานอิสระไม่สามารถเปิดให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในระบบการตรวจรับรองได้มากนัก รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการตรวจรับรองที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วก็เช่นกัน

ทาง IFOAM และหน่วยงานหลายแห่งจึงได้สนับสนุนให้มีการประชุมเรื่องนี้ขึ้นเมื่อกลางเดือนเมษายน 2547 ที่ประเทศบราซิล โดยวิฑูรย์ ปัญญากุล จากกรีนเนท เป็นตัวแทนคนเดียวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว  หลังการประชุมในครั้งนั้น ทาง IFOAM ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System (PGS) หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ “ชุมชนรับรอง” เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของ IFOAM ก็ได้ (คลิ๊ก)

 

นิยามความหมาย
IFOAM ให้คำนิยามสั้นๆ ว่า PGS คือ ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้ [Participatory Guarantee Systems (PGS) are locally focused quality assurance systems. They certify producers based on active participation of stakeholders and are built on a foundation of trust, social networks and knowledge exchange.]

องค์ประกอบและรูปแบบ
องค์ประกอบสำคัญของระบบชุมชนรับรอง PGS คือ

  1. วิสัยทัศน์ร่วม (shared vision) ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคในหลักการพื้นฐานของระบบชุมชนรับรอง ซึ่งการมีส่วนร่วมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการก็ได้
  2. การมีส่วนร่วม (participatory) ของผู้ที่สนใจในการบริโภคและการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากระบบนี้ หลักการและมาตรฐานการผลิตเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ผู้ผลิต ที่ปรึกษา ผู้บริโภค) ซึ่งทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือ เพราะการมีส่วนร่วมนี้
  3. ความโปร่งใส (transparency) ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงกลไกและกระบวนการในการตรวจรับรองทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจำเป็นต้องรู้รายละเอียดทุกอย่างเท่ากัน แลในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปกป้องข้อมูลที่อาจะเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า
  4. ความเชื่อมั่นต่อกัน (trust) ระบบชุมชนรับรองตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า เราสามารถเชื่อถือเกษตรกรได้ และการใช้กลไกควบคุมทางสังคม/วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้
  5. กระบวนการเรียนรู้ (learning process) ระบบชุมชนรับรองไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้การรับรองผลผลิต และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชุมชนและเกษตรอินทรีย์
  6. ความเชื่อมโยงในแนวราบ (horizontality) ที่เป็นการแบ่งปันอำนาจและความรับผิดชอบของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนเพียง 2 – 3 คนเท่านั้น

ลักษณะรูปแบบสำคัญของระบบชุมชนรับรอง คือ

  1. มาตรฐานและข้อกำหนดถูกพัฒนาขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง [Norms conceived by the stakeholders]
  2. มีฐานจากองค์กรรากหญ้า [Grassroots Organization]
  3. เหมาะกับการเกษตรของเกษตรกรรายย่อย [Is appropriate to smallholder agriculture]
  4. มีหลักการและระบบคุณค่า [Principles and values] ที่มีเป้าหมายในการยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวเกษตรกรและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
  5. มีเอกสารที่อธิบายระบบการบริหารจัดการและขั้นตอนการทำงาน [Documented management systems and procedures] ซึ่งควรกำหนดให้เกษตรกรต้องจัดทำเอกสารข้อมูลเท่าที่จำเป็นจริงๆ แต่ระบบชุมชนรับรองควรต้องมีระบบการบันทึกที่แสดงให้เห็นได้ว่า เกษตรกรได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จริง
  6. มีกลไกในการยืนยันการปฏิบัติตามมาตรฐานของเกษตรกร [Mechanisms to verify farmer’s compliance]
  7. มีกลไกในการสนับสนุนเกษตรกร [Mechanisms for supporting farmers] เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้จริง
  8. มีข้อตกลงหรือสัตยาบันของเกษตรกรในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐาน [a bottom-line document]
  9. มีตรารับรอง [Seals or labels] ที่เป็นหลักฐานแสดงสถานะความเป็นเกษตรอินทรีย์
  10. มีบทลงโทษที่ชัดเจนและแจ้งล่วงหน้า [Clear and previously defined consequences] สำหรับเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และมีการบันทึกการลงโทษในระบบฐานข้อมูล หรือเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบ

คำถาม-คำตอบ

(ก) ระบบชุมชนรับรองดีกว่าการตรวจรับรองด้วยหน่วยงานอิสระหรือไม่
การตรวจรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานอิสระเป็นระบบการตรวจที่ออกแบบมาสำหรับการตรวจรับรองเพื่อการตลาด ที่ขายสินค้าไปตลาดไกล รวมทั้งการส่งออก ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ส่วนระบบรับรองตัวเองเป็นอีกระบบการตรวจรับรองที่เข้ามาเสริม โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ถูก และเหมาะสำหรับตลาดในท้องถิ่น  ดังนั้น ไม่ใช่ว่าระบบชุมชนรับรองดีกว่าหรือแย่กว่าระบบการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ แต่เป็นเครื่องมือคนละแบบ ที่ควรเลือกใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสมถูกต้อง

(ข) ต่างอย่างไรกับระบบควบคุมภายใน (internal control system)
ระบบควบคุมภายในเป็นระบบที่ใช้สำหรับการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยในการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ ซึ่งหน่วยตรวจรับรองจะกำหนดรายละเอียดและวิธีการทำงานของระบบควบคุมภายในไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน แต่ระบบชุมชนรับรองไม่ได้ต้องมีการตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระ  เมื่อไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ระบบชุมชนรับรองจึงสามารถมีนวัตกรรมในการออกแบบและดำเนินการได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ระบบชุมชนรับรองส่วนใหญ่ก็นำโครงสร้างและรูปแบบของระบบควบคุมภายในมาประยุกต์ใช้ เช่น ระบบเอกสารฟาร์มของเกษตรกร ระบบการตรวจฟาร์ม หรือแม้แต่การตัดสินใจรับรองฟาร์ม

(ค) ทำทั้งระบบชุมชนรับรองและขอตรวจรับรองโดยหน่วยงานอิสระไปพร้อมกันได้หรือไม่
อาจสามารถทำได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน

(ง) แล้วจะใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของใครดี
เนื่องจากการที่ไม่มีระเบียบข้อกำหนด ระบบชุมชนรับรองจึงมีความหยืดหยุ่นที่สามารถเลือกที่จะใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของใครก็ได้มาเป็นฐานในการพัฒนามาตรฐานของกลุ่มผู้ผลิตเอง ซึ่งโดยปกติทั่วไป ระบบชุมชนรับรองส่วนใหญ่จะเลือกใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM เป็นกรอบเริ่มต้น

(จ) ในประเทศไทย จะขอความรู้และการสนับสนุนได้จากใคร
เครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ เป็นหน่วยงานระดับประเทศ ที่ตั้งขึ้นในกลางปี 2556 เพื่อประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานที่ทำระบบชุมชนรับรองในประเทศไทย