มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน

ในปี 2555 หน่วยงานราชการมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว ที่เข้าร่วมในโครงการ GOMA (Global Organic Market Access)[1] ได้ร่วมกันเสนอให้ ASEAN ในที่ประชุมมของ MASHP (Meeting of Task Force on ASEAN Standards for Horticultural Produce and Other Food Crops) ให้มีการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ ASEAN ขึ้น โดยได้เลือกมาตรฐาน AROS (Asian Regional Organic Standards) ที่ GOMA ได้จัดทำขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานเริ่มต้น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ STF-ASOS (Special Task Force on ASEAN Standard for Organic Agriculture) และจัดประชุมครั้งแรกในเดือนเมษายน 2556 ที่ประเทศบรูไน

คณะทำงานพิเศษได้มีการประชุมร่วมกัน 4 ครั้ง โดยในครั้งที่ 4 ในการประชุมที่ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ประชุมได้จัดทำสรุปร่างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Standard for Organic Agriculture -ASOS) รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการ (Strategic Plan of Action) และได้นำเสนอต่อกรรมการตามลำดับขั้นต่อไป ซึ่งเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียนและแผนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการนี้จะนำไปใส่รวมไว้ในแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ (Strategic Plan for ASEAN Cooperation in Food, Agriculture and Forestry) เพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้พิจารณาอนุมัติต่อไป

อย่างไรก็ดี คณะทำงานพิเศษก็ยังคงได้จัดทำรายละเอียดการดำเนินงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องคำอธิบายมาตรฐานเพิ่มเติม การประเมินความเท่าเทียมกันของมาตรฐานสำหรับประเทศสมาชิก การจัดทำการประเมินระบบมาตรฐานของตัวเอง และการประเมินร่วม (peer review) ของระบบมาตรฐานของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งกลไกในการยอมรับระบบมาตรฐานร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement – MRA)

คงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียนนี้ค่อนข้างรวดเร็ว ทั้งนี้คงเป็นเพราะได้อนิสงฆ์จากงานของโครงการ GOMA ที่ได้จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เอเชีย รวมทั้งการจัดทำข้อกำหนดของการตรวจรับรองและกลกไกการยอมรับระบบมาตรฐานร่วมกันมาก่อนหน้านี้แล้ว  แต่สิ่งที่ยังเป็นจุดอ่อนที่ควรจะต้องปรับปรุงก็คือ กระบวนการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพราะการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในอาเซียนมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งข้อกำหนดของมาตรฐานนี้จะมีผลครอบคลุมต่อการปฏิบัติของเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วทั้งภูมิภาค การเปิดให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการให้ความเห็นจะทำให้ทั้งมาตรฐานและระบบการยอมรับซึ่งกันและกันตั้งอยู่เป็นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องขอรับรองมาตรฐานภายในอาเซียนและมาตรฐานนอกภูมิภาคนี้ (เช่นของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ)

นอกจากนี้ ดูเหมือนจะมีความชัดเจนว่า อาเซียนจะกำหนดให้ผลผลิตสินค้าส่งออกภายในอาเซียนจะต้องได้รับการตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) เป็นขั้นต่ำ  แต่ในข้อกำหนดดังกล่าว ยังไม่ได้มีข้อยกเว้นให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถ้าไม่มีข้อยกเว้นดังกล่าว แม้ว่าสินค้านั้นได้ผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็จะยังคงต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ซ้ำอีก ซึ่งเป็นการตรวจรับรองซ้ำซ้อน ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยไม่มีประโยชน์อันใด

 

———————–

[1] ดูรายละเอียเพิ่มเติมเกี่ยวกับ GOMA ได้ที่ link