ภูมิต้านทานของผึ้งลดลงเพราะสารเคมีกำจัดแมลง
ปัญหาผึ้งหายสาบสูญไปจากรังโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นปัญหาที่คุกคามเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้เรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า “การล่มสลายของฝูงผึ้งอย่างผิดปกติ” หรือ colony collapse disorder (CCD) [ดูบทความ “ผึ้งกำลังถูกคุกคามด้วยโรคและเกษตรเคมี”]

ในบทความทางวิชาการล่าสุด ที่ตีพิพม์ในนิตยสาร Naturwissenschaften ที่ดอกเตอร์ Jeff Pettis นักวิชาการจาก Bee Research Laboratory ในสหรัฐอเมริกาได้ทำวิจัยเกี่ยวกับผลของสารกำจัดแมลงพวก imidacloprid โดยเอาอาหารที่มีสารเคมีนี้ผสมอยู่ให้ตัวอ่อนของผึ้งกิน โดยใช้สัดส่วนที่น้อยมาก เพียง 5 และ 10 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในปริมาณสารเคมีที่ปนเปื้อนขนาดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อผึ้งโดยตรง และเมื่อผึ้งโตเป็นตัวเต็มวัย เขาก็ให้อาหารผึ้งที่มีสปอร์ของเชื้อราพวก Nosema ปนอยู่ ซึ่งเชื้อรานี้ทำให้เกิดโรคในผึ้ง และอาจทำให้ผึ้งตายได้  หลังจากนั้น 12 วัน เขาก็จับผึ้งมาผ่าพิสูจน์ และพบว่า ผึ้งที่ได้กินอาหารที่ปนสารเคมีกำจัดแมลง imidacloprid เมื่อเป็นตัวอ่อนจะมีสปอร์ของเชื้อราเฉลี่ย 700,000 สปอร์ ในขณะที่ผึ้งที่ตัวอ่อนไม่ได้บริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี จะมีสปอร์เชื้อราในตัวเพียง 200,000 สปอร์

ในงานวิจัยก่อนหน้านี้ นักวิชาการได้พบแล้วว่า สารเคมีกำจัดแมลง imidacloprid มีผลทำให้ผึ้งสูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ และงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่า สารเคมีกำจัดแมลงทำให้ภูมิต้านทานของผึ้งลดลงกว่า 3 เท่าตัวทีเดียว

[เก็บความจากบทความ “Bee off” ในนิตยสาร The Economist ฉบับ January 28th 2012]