ภาคเอกชนในอาเซียนเตรียมร่วมมือเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาค
ตัวแทนสมาคมเกษตรอินทรีย์จาก 8 ประเทศในอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุม Organic Symposium 2012 ซึ่งจัดโดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 24 – 25 พฤษภาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งตัวแทนทั้ง 7 ประเทศมีความเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการรวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อขยายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาค

ในการนำเสนอภาพรวมสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในวันที่ 24 พฤษภาคม นาย Rasdi Wagsa ตัวแทนจาก Indonesia Organic Alliance ประเทศอินโดนีเซีย ได้เล่าให้ฟังถึงการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์รวมกันกว่า 1.4 ล้านไร่ โดยกว่าห้าแสนไร่ได้รับการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะผลิตกาแฟ มะม่วงหิมพานต์ และเครื่องเทศ  ในขณะที่นาย Ong Kung Wai จาก Organic Alliance Malaysia ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวถึงตลาดเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 2,000 ล้านบาท โดยผู้บริโภคหลักคือ กลุ่มครอบครัวคนป่วยและครอบครัวลูกอ่อน ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย  เช่นเดียวกัน นาย Tai Seng Yee ผู้อำนวยการบริหารของบริษัท Zenxin Agri-Organic Food ประเทศสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์ว่า มีร้านค้าที่ขายสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ประมาณ 40 แห่ง โดยมีทั้งร้านสุขภาพ ซุเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร หรือแม้แต่แผงในตลาดสด โดยราว 50% เป็นพวกผักและผลไม้สด รองลงมาคือ ข้าวและธัญพืช  นอกจากนี้ คุณสุนันทา เศรษฐบุญสร้าง ตัวแทนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียได้บรรยายให้ที่ประชุมได้ทราบถึงนโยบายและโครงการของธนาคารฯ เกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกันการพัฒนาความร่วมมือเพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองในภูมิภาค การสนับสนุนระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ เป็นต้น

ส่วนในวันที่ 25 พฤษภาคม ตัวแทนจากภาคเอกชนในอาเซียนได้แลกเปลี่ยนทัศนะในเวทีเสวนาเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยผู้เสวนาจากประเทศเขมร เมียนมาร์ ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เห็นร่วมกันว่า ควรมีความร่วมมือใน 3 ด้าน คือ (ก) เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (ข) การพัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่เชื่อมโยงการผลิต-แปรรูป-ตลาดของประเทศในประชาคมอาเซียนร่วมกัน และ (ค) การผลักดันให้มีการยอมรับความทัดเทียมกันของระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการตรวจรับรอง รวมถึงระบบชุมชนรับรอง (Participatory Guarantee System)