ภาคประชาชนให้ความเห็นแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 23 มิถุนายน 2554  สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรมได้นำร่วมกันจัดประชุมระดมความเห็นภาคประชาชนต่อ (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประเด็นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)

ในส่วนของภาคประชาชน ตัวแทนของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนได้อภิปรายถึงเนื้อหาของแผนแม่บทฯ ในหลายเรื่อง โดยเรื่องที่สำคัญก็คือ สาขาพลังงานและอุตสาหกรรม สาขาป่าไม้ และ สาขาความมั่นคงทางอาหาร (เกษตร/ประมง/ชายฝั่ง) ซึ่งในภาคการเกษตร ในวงอภิปราย มีการเสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทฯ ดังนี้

  • งดใช้สารเคมี ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
  • กำหนดให้มีกฏหมายคุ้มครองพื้นที่การเกษตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว)
  • เสนอให้กลไกในการสนับสนุนข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เสนอให้มีการออก พระราชบัญญัติการใช้น้ำเนื่องจากมีแนวโน้มเรื่องการแย่งกันใช้น้ำในอนาคต  -ให้สิทธิทำกินแก่เกษตรกรโดยทำเป็นโฉนดชุมชน (ปัจจุบันเกิดปัญหาใหม่ เมื่อเกษตรกรได้สิทธิทำกินและครอบครองโฉนด ปรากฏว่า เอาที่ดินที่มีโฉนดนั้นไปขายต่อ ทำให้เกิดปัญหาใหม่ ขึ้นมา คือ เมื่อเกษตรกรได้รับโฉนดแล้วเอาไปขายต่อให้นายทุน)
  • ให้สิทธิกับคนในลุ่มน้ำ (ต้นน้ำ) เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ ทางคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมและ สผ. จะได้สรุปรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะกรรมการที่จัดทำแผนแม่บทฯ ต่อไป

(ร่าง) แผนแม่บทฯ นี้ ทาง สผ. ได้มอบหมายให้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำ ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 และได้เริ่มการจัดทำประชาพิจารณ์ไปตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2553 แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านอย่างรุนแรง จากชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน

อ่านรายละเอียดของร่างแผนแม่บทฯ นี้ได้ (ดาวน์โหลด 2.6 MB)