ประสบการณ์ PGS เกษตรอินทรีย์ที่นิวซีแลนด์
เมื่อ 16 มกราคมที่ผ่านมา มูลนิธิสายใยแผ่นดินร่วมกับเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ จัดสัมมนาเรื่อง ประสบการณ์การตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ PGS ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกษตรอินทรีย์และ PGS จากประเทศนิวซีแลนด์ คือ คุณ Dennis Enright ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในนิวซีแลนด์มานานหลายสิบปี และในปัจจุบัน คุณ Dennis ก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานร่วม (Co Chairperson) ของสมาคมดินและสุขภาพนิวซีแลนด์ (Soil and Health Association NZ) เป็นกรรมการอำนวยการของหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ BioGro และเป็นกรรมการประสานงานระดับประเทศของ OrganicFarmNZ ซึ่งเป็นหน่วยงาน PGS ระดับประเทศของนิวซีแลนด์

ระบบ PGS ของนิวซีแลนด์เลือกที่จะใช้มาตรฐานกลางระดับประเทศของหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ BioGro ซึ่งเป็นหน่วยตรวจรับรองเอกชน ซึ่งมาตรฐานนี้ได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และสหภาพยุโรป โดยทาง OrganicFarmNZ เชื่อว่า การใช้มาตรฐานกลางของหน่วยตรวจรับรองเอกชนที่เป็นที่ยอมรับทั้งจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศอยู่แล้ว จะทำให้การตรวจรับรอง PGS มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น   ส่วนโครงสร้างของระบบ PGS นิวซีแลนด์นั้นประกอบด้วยเครือข่ายย่อยในระดับท้องถิ่น/ภูมิภาค (ซึ่งเรียกชื่อว่า pod) ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบกันเองเป็นเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้น เครือข่ายท้องถิ่นก็จะทำการรับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกใน pod  นอกจากนี้ คณะกรรมการระดับประเทศจะสุ่มตรวจเกษตรกรในแต่ละ pod ซ้ำอีกอย่างน้อยหนึ่งคนในแต่ละปี

เกษตรกรที่เลือกใช้ระบบ PGS ทั้งหมดเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่มีผลผลิตจากฟาร์มไม่มาก และมีเป้าหมายในการจำหน่ายผลผลิตของตนในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งเกษตรกรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีให้กับ OrganicFarmNZ เป็นเงิน 375 เหรียญนิวซีแลนด์ต่อปี (ประมาณ 9,653 บาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ รวมทั้งค่าตรวจรับรองด้วย

เกษตรกรที่ได้รับการรับรองในระบบ PGS นี้ จะสามารถใช้ตรารับรอง OrganicFarmNZ