ทำไมควรตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์
เป้าหมายหลักของการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก็คือ การสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และการช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ได้อย่างถูกต้อง (โดยสังเกตจากตรารับรองเกษตรอินทรีย์)  การตรวจสอบรับรองจึงเป็นกลไกที่ช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อตลาดเกษตรอินทรีย์เริ่มขยายตัว มักจะมีผู้ผลิตบางรายที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์จริง แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นเกษตรอินทรีย์  การกระทำดังกล่าวสร้างความสับสนและความไม่เชื่อถือต่อเกษตรอินทรีย์โดยรวม  นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่มีโอกาสที่จะได้พบปะโดยตรงกับเกษตรกร หรือมีโอกาสในการสอบถามถึงขั้นตอนการผลิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป  ดังนั้นการรับรองมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่า ผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่มีการผลิตตามกระบวนการเกษตรอินทรีย์จริง

นอกจากนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ผลิตจำเป็นต้องได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประเทศผู้นำเข้าบางประเทศมีกฏหมายหรือระเบียบควบคุมการใช้ฉลากเกษตรอินทรีย์บนผลิตภัณฑ์ที่ เช่น สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2534 ควบคุมผลิตภัณฑ์ที่จะติดฉลากเกษตรอินทรีย์ หรือในประเทศญี่ปุ่นก็มีกฎหมายในทำนองเดียวกันออกมาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2544 กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันคือ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากเกษตรอินทรีย์จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรองที่เชื่อถือได้ และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องผลิตโดยกระบวนการที่เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ประเทศนั้นได้กำหนดขึ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน “มาตรฐานและการตรวจรับรอง“)

สำหรับเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ทำการผลิตเพียงเพื่อเลี้ยงชีพในครอบครัว หรือมีโอกาสจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง การตรวจสอบรับรองมาตรฐานก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด

โดยสรุป การตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์มาตรฐานนั้นมีประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะด้านการตลาด เช่น

  • การตรวจสอบรับรองมาตรฐานช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อหาและบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ จึงเป็นการช่วยส่งเสริมการตลาดของผลผลิตเกษตรอินทรีย์
  • การตรวจสอบรับรองมาตรฐานช่วยปกป้องผู้ผลิตที่ทำการผลิตด้วยกระบวนเกษตรอินทรีย์จริงจากการกล่าวอ้างโดยผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะในระยะหลัง เมื่อตลาดเกษตรอินทรีย์ขยายตัวมากขึ้น ก็มักเกิดกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือหลอกลวงแอบอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดทั้งที่เป็นผลผลิตที่สามารถทำการผลิตได้เองภายในประเทศ  การตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์จึงมีบทบาทในการปกป้องเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง
  • การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไปต่างประเทศ มีหลายประเทศที่มีระเบียบกฎหมาย หรือข้อกำหนดทางการตลาดที่กำหนดให้มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ  ในกรณีเช่นนี้การรับรองมาตรฐานช่วยเปิดตลาดที่กว้างขึ้น เพิ่มจากตลาดเดิมให้กับผู้ผลิต
  • เนื่องจากระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานกำหนดให้เกษตรกรต้องจดบันทึกข้อมูลการผลิตต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ข้อมูลที่หน่วยงานรับรองมาตรฐานรวบรวมขึ้นมาจากการตรวจฟาร์มนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการวางแผนการตลาด การกำหนดนโยบาย และการวางแผนการวิจัยสนับสนุน

การรับรองมาตรฐานช่วยยกระดับภาพพจน์ของขบวนการเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นการเกษตรที่ช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค
การรับรองมาตรฐานอาจใช้เป็นเกณฑ์ในการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์โดยหน่วยงานราชการหรือเอกชน  ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการให้เงินอุดหนุนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ภายใต้นโยบายส่งเสริมการเกษตรที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เกษตรกรจะต้องได้รับการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ก่อน จึงจะมีสิทธิสมัครขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล