ข้อเท็จและข้อจริง “ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม”

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 มีการเผยแพร่เอกสารกึ่งวิชาการ “ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดภัยจากสารพิษดีกว่าไหม” ที่เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ และจัดพิมพ์โดยภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  เอกสารเล่มดังกล่าวได้พยายามอธิบายถึงความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ในด้านต่างๆ โดยอ้างอิงข้อมูลงานวิจัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า การผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ให้ผลผลิตที่น้อยกว่า มีต้นทุนการผลิตที่สูง มีความเสี่ยงของการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชมากกว่า ทำให้ดินแน่น มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษหรือไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า และระบบการตรวจสอบรับรองไม่มีความน่าเชื่อถือ

นักวิชาการและหน่วยงานหลายแห่ง ที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืน รู้สึกประหลาดใจกับเนื้อหาในเอกสารกึ่งวิชาการเล่มนี้ เพราะข้อสรุปในเอกสารขัดแย้งกับข้อสรุปงานวิจัยจำนวนมาก ทั้งงานวิจัยในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงประสบการณ์ในทางปฏิบัติของเกษตรกรจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่ทำการเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์มาเป็นเวลานานาหลายสิบปี

นอกเหนือจากความเคลือบแคลงต่อความเป็นกลางทางวิชาการของผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย[1] อีกทั้งเคยจัดพิมพ์หนังสือ ซึ่งมีหน้าหาคล้ายกันและจัดพิมพ์และเผยแพร่โดยกลุ่มธุรกิจปุ๋ยเคมีดังกล่าวแล้ว[2]  ปัญหาสำคัญของเอกสารกึ่งวิชาการเล่มนี้ก็คือ ข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ได้มาจากการอ้างอิงงานวิจัยเพียง 1 – 2 งานวิจัย โดยไม่ได้ทบทวนงานวิจัยแบบภาพรวม ซึ่งทำให้ข้อสรุปมีอคติทางวิชาการแฝงอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอ้างอิงงานวิจัยที่จัดทำโดยหน่วยงานที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของปุ๋ยเคมี[3] เลือกงานวิจัยที่ทำการศึกษาพืชบางชนิดและพื้นที่เฉพาะแห่ง แล้วนำมาสรุปเป็นกรณีทั่วไป (สรุปแบบเหวี่ยงแห)[4] หรือมีการสรุปข้อมูลที่ผิดพลาดโดยผู้เขียนเอง[5]

ฟังอภิปรายในงานสัมมนาเชิงวิชาการ “ความเป็นจริงเรื่องเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานบังคับ และยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ” วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2558
ชนวน รัตนวราหะ [link]
เดชา ศิริภัทร [link]
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ [link]
วิฑูรย์ ปัญญากุล [link]

เชิงอรรถ
[1] โปรดดู http://www.thaifert.com/aboutus.php

[2] หนังสือชื่อ “ความจริงเกี่ยวกับปุ๋ย ในการเกษตรและสิ่งแวดล้อม “ โดย ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ จัดทำโดยสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จัดพิมพ์เมื่อปี 2550 และจัดพิมพ์ครั้งที่สองในปี 2555 โดยมูลนิธิข้าวไทย

[3] การอ้างอิงงานวิจัยของ International Potash Institute ที่เป็นหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ในการขายปุ๋ยโปแตสเซียม เพื่อแสดงให้เห็นว่า การใช้ปุ๋ยเคมีโปแตสเซียมเพิ่มมากขึ้นในการปลูกถั่วเหลือง จะทำให้เกิดโรคและแมลงน้อยลง (หน้า 15)

[4] (ก) การอ้างอิงงานวิจัยที่ศึกษาเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยเคมีและมูลสุกรต่อผลผลิตมันสำปะหลัง และงานศึกษาการปลูกข้าวโพดด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก แล้วสรุปแบบเหมารวมว่า ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้ช่วยเพิ่มผลผลิตพืช และทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น (หน้า 9 – 10)
(ข) การใช้งานศึกษาการชะล้างและการปล่อยไนเตรท ของงานวิจัยในเขตอากาศอบอุ่น (soil under cold temperate conditions) แล้วสรุปว่า การปลูกพืชอินทรีย์ปลดปล่อยไนเตรทสู่แหล่งน้ำมากกว่า 2 เท่าของการใช้ปุ๋ยอย่างอื่น (หน้า 24 – 25)

[5] (ก) การสรุปว่า “ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ทำให้พืชถูกโรคและแมลงเข้าทำลายมากขึ้น” เพราะ “ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่มีไนโตรเจนมากกว่าฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมทำให้พืชถูกโรคและแมลงเข้าทำลายมากขึ้น” (หน้า 12 – 13) เป็นการสรุปโดยไม่มีความถูกต้องทางวิชาการ เพราะในปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอยู่หลากหลายชนิด มีเฉพาะปุ๋ยคอก ที่อาจมีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจนมากกว่าฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม แต่ในปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ หรือแม้แต่ปุ๋ยพืชสด สัดส่วนของไนโตรเจนก็ไม่ได้สูงกว่าธาตุอาหารอื่น
(ข) งานวิจัยที่ใช้อ้างอิงในการสรุปว่า “ปุ๋ยเคมีที่มีแต่ไนโตรเจนเพียงอย่างเดียวและปุ๋ยเอ็นพีเคที่มีไนโตรเจนสูงทำให้พืชถูกโรคและแมลงทำลายมากขึ้น” (หน้า 13) เป็นงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของปุ๋ยอินทรีย์แมลงศัตรูพืชและโรคของข้าว ซึ่งวิจัยสรุปว่า ปุ๋ยอินทรีย์ให้ผลการเจริญเติบโตของข้าวไม่แตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่จะช่วยลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูข้าว เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนกอข้าว หนอนม้วนใบ โรคไหม้ และโรคกาบใบแห้ง แต่ในเอกสารกึ่งวิชาการกลับบิดผลสรุปการวิจัยเพื่อเข้าข้างความคิดเห็นของตัวเอง
(ค) การใช้งานศึกษาผลของการใช้มูลไก่ในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดโรคและแมลงแตกต่างกัน แล้วนำมาสรุปว่า ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ทำให้พืชถูกโรคและแมลงเข้าทำลายมากขึ้น (หน้า 12 – 13)
(ง) การอ้างอิงงานวิจัยผลงานวิจัยแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก) ทำให้ดินมีความแข็งของดินชั้นบนน้อยกว่าปุ๋ยเคมี แต่ผู้เขียนกลับพยายามอธิบายว่า “การใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินโปร่งมากขึ้นและแข็งน้อยลงเหมือนกับการใส่ปุ๋ยอินทรีย์” และสรุปว่า “ใช้ปุ๋ยเคมีโดยไม่เผาหรือย้ายตอซังออก ทำให้ดินมีความโปร่งมากขึ้นและแข็งน้อยลง” (หน้า 22 – 23)