ขบวนการแฟร์เทรดไทย

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการจะบ่งบอกว่า ขบวนการแฟร์เทรดในประเทศไทยถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะมีหลายหน่วยงานที่ได้ทำเรื่องการค้าที่เป็นธรรมมานานหลายสิบปี  อย่างไรก็ดี เราอาจแบ่งกระแสการพัฒนาแฟร์เทรดในประเทศไทยได้ออกเป็น 3 กลุ่ม

กระแสแรกเป็นกลุ่มหน่วยงานด้านคริสตจักรจากยุโรปที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่เริ่มกิจกรรมแฟร์เทรดไปพร้อมๆ กับที่กลุ่มแฟร์เทรดในยุโรปที่ได้เริ่มการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคยุโรป เช่น มูลนิธิ Christian Service Foundation (ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Thai Tribal Craft) ที่ได้เริ่มส่งอกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชาวเขาในภาคเหนือ เพื่อไปจำหน่ายให้กับเครือข่ายคริสเตียนในยุโรป ตั้งแต่ปี 2516  ในปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้มีจำนวนหนึ่งที่ยังทำงานอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยได้ทำงานเกี่ยวกับแฟร์เทรดอีกแล้ว

กระแสที่สองคือกลุ่มแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงพุทธทศวรรษ 2523 – 2533 โดยบางองค์กรก็เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานในกลุ่มแรก แต่ได้ผันตัวเป็นองค์กรไทย ที่เป็นอิสระจากองค์กรเดิม  หน่วยงานงานเหล่านี้มีเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น แต่ยังคงกิจกรรมการรับซื้อผลผลิต (ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรม) จากชาวบ้าน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มแฟร์เทรดในต่างประเทศ  รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริการด้านการตลาดกับผู้ผลิตรายย่อยอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งบางกลุ่มก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ล้มเหลว และเลิกองค์กรไป  สมาคมไทยคราฟท์เป็นหนึ่งในองค์กรในกระแสที่สองนี้

ส่วนกระแสที่สามเป็นองค์กรแฟร์เทรดไทย ที่เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เห็นความจำเป็นและโอกาสในการพัฒนาตลาดเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย รวมทั้งเป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง  กลุ่มองค์กรในกระแสนี้ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหลัก  นอกจากนี้ กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย พร้อมๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการตรวจรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดในต่างประเทศ ทำให้องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำการผลิตและการค้าที่มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดไปพร้อมกัน  กรีนเนทเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของกระแสแฟร์เทรดไทยในกลุ่มนี้

เริ่มต้นจากความสัมพันธ์โดยบุคคล หน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มทำงานร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มกันเป็นขบวนการแฟร์เทรดไทยในช่วงประมาณกลางพุทธศตรวรรษ 2540 โดยมีหน่วยงานหลัก 2 องค์กร คือ ไทยคราฟท์และกรีนเนท ที่พยายามเชื่อมประสานองค์กรแฟร์เทรดไทยต่างๆ เข้าหากัน จนนำไปสู่การจัดตั้ง “ไทยแฟร์เทรดฟอรั่ม” ขึ้นในเดือนกันยายน 2550  แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ไทยแฟร์เทรดฟอรั่มไม่สามารถผลักดันกิจกรรมเกี่ยวกับแฟร์เทรดในประเทศไทยได้มากนัก ยกเว้นการจัดกิจกรรมในช่วงวันแฟร์เทรดสากล (วันเสาร์ที่สองของเดือนพฤษภาคมของทุกปี)  แต่อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานแฟร์เทรดไทยได้เริ่มก่อตัวขึ้นมาเรื่อยๆ  ที่จริงแล้ว หนึ่งในเป้าหมายของไทยแฟร์เทรดฟอรั่มคือ การรวมกลุ่มแฟร์เทรดทั้งหมดในประเทศไทยเข้าด้วยกัน แต่ด้วยความแตกต่างของสินค้า การตลาด และองค์กร ทำให้แฟร์เทรดในประเทศไทยยังคงเป็นลักษณะที่ต่างคนต่างทำอยู่

อย่างไรก็ดี มีความพยายามริเริ่มจากองค์กรแฟร์เทรดไทยที่เป็นเครือข่ายของ WFTO ในการรณรงค์เรื่องแฟร์เทรดในประเทศไทยมากขึ้น เพราะ WFTO กำลังดำเนินการพัฒนาระบบการรับรองแฟร์เทรดใหม่ ที่เปลี่ยนจากการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ มาเป็นการตรวจรับรององค์กร แต่สามารถให้ติดฉลากแฟร์เทรดบนผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ซึ่งหน่วยงานแฟร์เทรดไทยที่เป็นสมาชิก WFTO เห็นว่า ระบบการตรวจรับรองแบบใหม่นี้จะช่วยทำให้เกิดการรณรงค์แฟร์เทรดในประเทศไทยได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น