กว่า 11,000 ไร่ทำเกษตรอินทรีย์ชุมชนรับรอง PGS ในไทย
ชุมชนรับรอง PGS หรือการรับรองแบบมีส่วนร่วม เป็นเครื่่องมือหนึ่งในการสร้างหลักประกันความเป็นเกษตรอินทรีย์ของกระบวนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้ริเริ่มนำมาใช้ในประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2554 กับกลุ่มเกษตรกรปลูกผักเกษตรอินทรีย์ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี และได้ขยายวงไปสู่กลุ่มผู้สว่างโบราณ (ปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม ทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ) ที่ขอนแก่นนำ และกลุ่มปลูกกาแฟ “มีวนา” ที่จังหวัดเชียงราย ในปีถัดมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “เกษตรอินทรีย์ชุมชนรับรองในประเทศไทย“)

ในปี 2559/60 นี้ ระบบชุมชนรับรองได้ถูกกล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 [เมื่อ 11 เม.ย. 60] ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการพัฒนาตลาดและการรับรอง ได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างการยอมรับของระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมนี้ในประเทศไทย

กรีนเนทได้ทำการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่นำระบบชุมชนรับรองไปใช้ และพบว่า ณ สิ้นปี 2559 มีเกษตรกร 14 กลุ่ม ที่ได้นำระบบนี้ไปใช้ โดยมีสมาชิกรวมกันราว 1,155 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ราว 11,550.82 ไร่  ซึ่งมีบางกลุ่มที่อยู่ในขั้นเพิ่งเริ่มดำเนินการ  ดังนั้น ถ้านับเฉพาะที่ดำเนินการแล้วเสร็จ (หมายถึงมีการตรวจรับรองแล้ว) น่าจะมีเกษตรกรประมาณ 866 ครอบครัว พื้นที่ 9,869.82 ไร่

และจากการสำรวจพบว่า ในเพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2560 มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ชุมชนรับรองเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว