แฟร์เทรด: คำถามที่พบบ่อย

1. แฟร์เทรดคืออะไร
“หุ้นส่วนทางการค้า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ความโปร่งใสและการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างให้เกิดความเสมอภาคทางการค้าระหว่างประเทศ แฟร์เทรดช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการทำให้เกิดเงื่อนไขทางการค้าที่ดีขึ้น และช่วยปกป้องสิทธิของผู้ผลิตและลูกจ้าง ที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ผลิตและลูกจ้างในประเทศที่กำลังพัฒนา
องค์กรแฟร์เทรด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค มีการดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนผู้ผลิต การสร้างความรับรู้ให้กับสาธารณะ และรณรงค์เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบและวิถีปฏิบัติของระบบการค้า ระหว่างประเทศทั่วไป”

2. การค้าที่เป็นธรรมเหมือนกันกับการค้าเสรี
ไม่ใช่  ที่จริงแล้ว การค้าเสรีนั้นไม่ได้เสรีตามชื่อ การค้าเสรีและการแข่งขันทางการค้าเป็นต้นตอของปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมขึ้น  เพราะเราตระหนักถึงปัญหาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการทำธุรกิจการค้าของบรรษัทขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากจากประเทศพัฒนาแล้ว พวกเราจึงพยายามที่จะพัฒนาระบบการค้าแบบใหม่ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด

3. แฟร์เทรดเป็นกิจกรรมแบบการกุศล เพื่อสงเคราะห์ผู้ผลิตที่ด้อยโอกาส
แฟร์เทรดส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว โดยอาศัยกลไกทางการค้า ที่ตั้งอยู่บนฐานของการพึ่งพาตนเอง  ความสำเร็จของแฟร์เทรดขึ้นอยู่กับการดำเนินธุรกิจโดยองค์กรอิสระ ที่ทำธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่จากเงินบริจาค  อาจมีองค์กรแฟร์เทรดหลายองค์กรที่สนับสนุนโครงการแบบสังคมสงเคราะห์ แต่กิจกรรมหลักขององค์กรเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของการค้าที่เป็นธรรม

4. การจะกำหนดราคาที่เป็นธรรมทำอย่างไร
ในระบบแฟร์เทรด จะมีการวิเคราะห์และกำหนดราคาขั้นต่ำ ที่สะท้อนต้นทุนการผลิต รวมทั้งรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตของผู้ผลิต  ราคานี้คือระดับราคาประกันขั้นต่ำ ที่ผู้ซื้อจะรับประกันการซื้อผลผลิตในราคานี้ ถ้าราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกัน  แต่ในกรณีที่ราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน ผู้ซื้อก็จะต้องซื้อในราคาตลาด  นอกจากราคาผลผลิตที่จ่ายให้กับผู้ผลิต ผู้ซื้อยังจะต้องจ่ายค่าแฟร์เทรดพรีเมี่ยมให้กับองค์กรผู้ผลิตด้วย นอกจากนี้ ผู้ซื้อยังต้องพูดคุยและหาข้อตกลงกับผู้ผลิตเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้า, การรับสินค้า, และเงื่อนไขในการชำระเงิน  ดังนั้น แฟร์เทรดจึงไม่ใช่แค่ราคาที่ยุติธรรม แต่รวมทั้งข้อตกลงทางการค้าที่โปร่งใสและเป็นธรรม

5. “แฟร์เทรดพรีเมี่ยม” คืออะไร
เนื่องจากแฟร์เทรดไม่ใช่แค่เรื่องของราคาที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตและกลุ่มผู้ผลิต รวมทั้งในแง่ของความเข้มแข็งของชุมชนโดยรวม เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แฟร์เทรดได้กำหนดให้มีการจัดสรรเงินสำหรับให้กลุ่มเพื่อผลิต เพื่อใช้ในการพัฒนากลุ่มและชุมชน  เงินส่วนเพิ่มนี้เรียกว่า “แฟร์เทรดพรีเมี่ยม” ซึ่งจะสัมพันธ์กับสัดส่วนของสินค้าที่ขายเข้าสู่ระบบแฟร์เทรด  กลุ่มผู้ผลิตจะต้องร่วมกันในการตัดสินใจว่า จะใช้เงินแฟร์เทรดเพื่อกิจกรรมอะไรและสัดส่วนเท่าไหร่

6. สินค้าแฟร์เทรดแพงกว่าและคุณภาพต่ำกว่าสินค้าทั่วไป
ไม่จำเป็น บางครั้งสินค้าแฟร์เทรดอาจจะมีราคาถูกกว่าได้ด้วย  โดยรวม สินค้าแฟร์เทรดส่วนใหญ่มีราคาใกล้เคียงกับสินค้าทั่วไป  ส่วนใหญ่ องค์กรแฟร์เทรดจะซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลง และมีส่วนต่างเพิ่มขึ้นสำหรับจ่ายให้กับผู้ผลิต

7. สินค้าแฟร์เทรดคุณภาพต่ำ
องค์กรแฟร์เทรดได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าแฟร์เทรดมาโดยตลอด  ด้วยความสัมพันธ์ทางธุรกิจระยะยาว องค์กรแฟร์เทรดและผู้ผลิตได้พัฒนาการทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความจำเป็นของผู้บริโภค และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ดี  อย่างไรก็ดี สินค้าหัตถกรรมโดยธรรมชาติแล้วจะไม่ได้เหมือนกันทุกชิ้น และความไม่สมบูรณ์ของสินค้าคือหลักประกันของสินค้าที่ทำด้วยมือจริงๆ

สินค้าแฟร์เทรดในต่างประเทศได้รับรางวัลยกย่องหลายรางวัล เช่น กาแฟแฟร์เทรดเคยได้รางวัล Cup of Excellence and Roaster of the Year หรือสินค้าหัตถกรรมก็เคยได้รางวัล SustainAbility in Design ในงาน New York Home Textile Show มาแล้ว

ในประเทศไทย ข้าวออร์แกนิคที่ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ข้าวออร์แกนิคของกรีนเนทมีคุณภาพที่ดีและราคาค่อนข้างถูก  สินค้าของลานนากาแฟมีคุณภาพสมราคา  ส่วนสินค้าหัตถกรรมที่ขายที่งานแฟร์ของไทยคราฟท์ก็มีสินค้าที่มีคุุณภาพที่หลากหลาย แม้ว่าจะไม่ได้ราคาถูกสุด และก็ไม่ใช่สินค้าที่แพงมาก เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และคุณภาพของสินค้าก็ดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับสินค้าหัตถกรรมราคาถูกๆ ที่ขายในท้องตลาด

8. แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สินค้าไหนเป็นสินค้าแฟร์เทรด
มีสินค้าไม่กี่อย่างที่ขายในประเทศไทย ที่ใช้ตรารับรองแฟร์เทรด แม้ว่า สินค้า/องค์กรผู้ผลิตจะได้รับการรับรองมาตรฐานแฟร์เทรดสากล  เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะว่า ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในประเทศยังไม่ค่อยให้ความใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น เราก็คงพบสินค้าติดตรารับรองแฟร์เทรดกันมากขึ้น  นอกจากนี้ ธุรกิจในประเทศเริ่มให้ความสนใจกับแฟร์เทรดเพิ่มขึ้น และมีการพูดคุยเกี่ยวกับระบบแฟร์เทรดของไทยเอง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับระบบแฟร์เทรดการันตีของ WFTO

ณ ขณะนี้ ก็ควรดูที่สินค้าและสิ่งที่องค์กรผู้ผลิต/จำหน่ายทำเกี่ยวกับแฟร์เทรด  ที่จริงแล้ว อาจมีกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่อาจมีการดำเนินธุรกิจที่ใกล้เคียงกับหลักการแฟร์เทรด แต่อาจจะยังไม่รู้จักกับแฟร์เทรดเลย  ผู้บริโภคสามารถใช้ความรู้และกำลังซื้อของท่าน ในการผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตก้าวเดินเข้าสู่แฟร์เทรดด้วยก็ได้

9. ซื้อสินค้าแฟร์เทรดได้ที่ไหนบ้าง
ในประเทศไทย มีที่จำหน่ายสินค้าแฟร์เทรดแบบเอ็กซ์คลูซีฟอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น งานแฟร์ของไทยคราฟท์ หรือร้านของ Lofty Bamboo (กรุงเทพ) และร้าน Thai Tribal Craft (เชียงใหม่)  ผู้ประกอบการแฟร์เทรดอื่นๆ เช่น กรีนเนท หรือลานนากาแฟ มักจะไม่ได้มีร้านปลีกของตัวเอง แต่วางขายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพ

10. จะสนับสนุนขบวนการแฟร์เทรดในประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง
* เลือกซื้อสินค้าแฟร์เทรด และติดตามข้อมูลข้าวสารเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรและกลุ่มต่างๆ และเลือกใช้เงินของท่านในการสนับสนุนการดำเนินการที่ช่วยทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
* อาสาสมัครทำงานช่วยองค์กรแฟร์เทรด
* ผลักดันให้ธุรกิจและกลุ่มต่างๆ นำหลักการแฟร์เทรดไปประยุกต์ใช้ และช่วยกันทำให้เกิดองค์กรแฟร์เทรดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
* เริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคมเอง และแน่นอนพัฒนาธุรกิจนี้ให้เป็นแฟร์เทรดด้วย

 

11. จะขอรับรองแฟร์เทรดได้ที่ไหน
ในประเทศไทย ไม่มีหน่วยงานที่ให้บริการตรวจรับรองแฟร์เทรด  สำหรับท่านที่สนใจจะขอการรับรอง จะต้องติดต่อกับองค์กรแฟร์เทรด/หน่วยตรวจรับรองโดยตรงเท่านั้น

(ก) FLO Cert (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมภาษาไทยได้ที่ link)
https://www.flocert.net

(ข) Fair Trade USA
https://www.fairtradecertified.org

(ค) WFTO (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมภาษาไทยได้ที่ link)
https://wfto.com