ในงานวิจัยของ FiBL สถาบันวิจัยเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยซูริค ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ได้ทดลองใส่เชื้อราไมคอร์ไรซา ในแปลงปลูกข้าวโพดเกษตรอินทรีย์ 54 ฟาร์ม (800 แปลงทดลอง) ราว 25% ของแปลงทดลอง ข้าวโพดมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% แต่อีก 33% ผลผลิตไม่แตกต่าง และมีบางแปลงทดลอง ที่ผลผลิตลดลงอีกด้วย

ผลการทดลองทำให้นักวิจัยประหลาดใจมาก จึงได้ทำการศึกษาต่อ และพบว่า เชื้อราไมคอร์ไรซาจะส่งผลดีต่อการปลูกพืช ในกรณีที่ดินมีปัญหาพวกเชื้อราที่เป็นโรคพืชอยู่มาก ซึ่งเชื้อราไมคอร์ไรซาจะช่วยทำหน้าที่เหมือนเป็นโล่ป้องกันต้นพืชที่ปลูก ทำให้พืชเป็นโรคน้อยลง ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ในกรณีที่ดินไม่ได้มีปัญหานี้ จึงไม่เห็นประโยชน์ระยะสั้นของเชื้อราไมคอร์ไรซานี้เท่าไหร่

ไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เป็นความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลระหว่างระบบรากของพืชกับเชื้อรา ซึ่งมีเชื้อราหลายชนิดที่อยู่ในกลุ่มนี้ นักวิทยาศาสารต์คาดว่า น่าจะเป็นหมื่นชนิด โดยพืชแต่ละชนิดจะมีเชื้อราไมคอร์ไรซาที่จับคู่ด้วยแตกต่างกันไป

โดยสรุป ข้อแนะนำหนึ่งในการใช้เชื้อราไมคอร์ไรซา คือ
* ต้องพิจารณาถึงชนิดพืชที่ปลูกเป็นสำคัญ (การใช้เชื่้อราไมคอร์ไรซาเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งชนิดเดียวโดยไม่ได้ดูพืชหลักที่ปลูก ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม)
* ควรใช้เฉพาะในปีแรกๆ ของการเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ควรใช้ซ้ำทุกปี (เพิ่มต้นทุน โดยไม่จำเป็น)
* สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเชื้อราไมคอร์ไรซา โดยการคือ การลดการไถพรวน การไม่ใช้สารที่เพิ่มความเป็นกรดให้กับดิน (เช่น ปุ๋ยเคมี หรือแม้แต่น้ำหมักต่างๆ)

หมายเหตุ
อ่านรายงานวิจัยนี้ได้ที่ Stefanie Lutz, Natacha Bodenhausen et al. Soil microbiome indicators can predict crop growth response to large-scale inoculation with arbuscular mycorrhizal fungi. Nature Microbiology, 29 November 2023.