เครือข่าย ThaiCAN เสนอให้ปรับแผนแม่บทรองรับโลกร้อน เพิ่มการทำงานเชิงรุกและและยั่งยืน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2555 – 2593 เมื่อในวันที่ 8 สิงหาคม 2555 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้าร่วม รวมทั้งเครือข่ายองค์กรความร่วมมือช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในการปรับตัวต่อสภาวะโลกร้อน (หรือเรียกย่อๆ ว่า ThaiCAN)

แผนแม่บทฯ นี้ใช้เวลาร่างนานราว 2 ปี โดยร่างแผนแม่บทฯ ฉบับแรกที่ทำขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาถูกวิจารณ์โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างมาก จนต้องมีการปรับแผนแม่บทฯ แบบยกเครื่องใหม่ โดยแผนแม่บทฯ นี้เป็นแผนระยะยาว (นานเกือบ 40 ปี) เพื่อกำหนดแนวทางสำหรับประเทศในการขับเคลื่อนจนถึงช่วงที่คาดกันว่าจะไม่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลเหลือให้ใช้กันอีก  เนื้อหาของแผนแม่บทฯ ประกอบด้วยแนวทางในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และประเด็นปัญหาร่วม (cross cutting issue) โดยเนื้อหาของแผนแม่บทฯ นี้จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนอื่นๆ เช่น แผนเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) และสังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society) เป็นต้น

ตัวแทนจาก ThaiCAN ได้นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับแผนแม่บทฯ ว่า

  1. แผนแม่บทควรจะต้องมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรมควบคู่กัน โดยให้ความสำคัญลำดับต้นกับกลุ่มคนที่เปราะบางสูง และควรใช้โอกาสจากสถานการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เผชิญอยู่นี้ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นธรรม รวมทั้งแสดงภาวะการเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน
  2. เพื่อให้ยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องแก้ตั้งแต่ปัญหาพื้นฐานของกลุ่มผู้มีความเปราะบางสูง นั่นคือเกษตรกรรายย่อย ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับยุทธศาสตร์ที่ 3 ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มคนที่เปราะบาง โดยการปรับรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคการเกษตรที่ยังมีความไม่เป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเป็นฐานการปรับตัวให้ชุมชนที่มีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานในการที่จะทำให้เกษตรกรมีขีดความสามารถในการปรับตัว
  3. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวควรออกแบบทั้งระบบในส่วนกลางร่วมกัน แต่จะต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
  4. ควรมีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของชุมชนเป็นการเร่งด่วน
  5. ควรมีการวิจัยและสนับสนุนชุมชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กับเกษตรกรและชุมชน
  6. ควรเร่งพัฒนาระบบการพยากรณ์อากาศในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนและปรับการผลิตได้อย่างทันท่วงที

ThaiCAN เป็นเครือข่ายขององค์พัฒนาเอกชนและหน่วยงานวิชาการที่ทำงานด้านการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (องค์การอ๊อกแฟม มูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาภาคเหนือ)