หน่วยงานภาคประชาสังคม

เนื้อหา

ในส่วนของภาคประชาสังคม มีหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้โดยตรงไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาและด้านสิ่งแวดล้อม ที่พยายามรวมตัวกัน เพื่อขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) มากกว่า

คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice – TCJ)

เป็นเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักกิจกรรมในประเทศไทย ที่จัดตั้งขึ้นในราวต้นปี พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และการดำเนินการต่างๆ ที่ส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในการเจรจาและการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับภูมิอากาศ  นอกจากนี้คณะทำงานยังทำหน้าที่ในการติดตามนโยบายเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนภายในประเทศ และการเจรจาระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเน้นประเด็นสำคัญคือ พลังงาน ป่าไม้ เกษตร และการเงิน (ความช่วยเหลือภายใต้กรอบเกี่ยวกับโลกร้อน)

คณะทำงานนี้เป็นคณะทำงานหนึ่งของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โดบผู้ประสานงานคณะทำงานนี้คือ คุณเพ็ญโฉม ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม

< กลับไปด้านบน >

www.ThaiClimate.org

เป็นเว็บไซด์ที่จัดทำขึ้นโดยนักข่าวสิ่งแวดล้อม 2 คน (นันทิยา ตั้งวิสุทธิจิต และเพ็ญนภา หงษ์ทอง) ที่สนใจและคลุกคลีกับข่าวและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี โดยมีทั้งข่าวที่รวบรวมจากสื่อต่างๆ หรือข่าวและบทความที่คนส่งไปลงในเว็บไซต์  โดยส่วนใหญ่จะเป็นข่าวสถานการณ์เกี่ยวกับโลกร้อน ผลกระทบต่อประเทศไทย รวมถึงการเตรียมพร้อม และการปรับตัวในด้านต่างๆ  นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ยังพยายามจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ ด้วย ที่อาจเป็นที่สนใจด้วย

ชมเว็บไซต์นี้ได้ที่ www.thaiclimate.org

< กลับไปด้านบน >

เครือข่ายภาคเหนือหยุดโลกร้อน Northern Climate Change Network (NCCN)

ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย-วิชาการ และกลุ่มประชาสังคม ในจังหวัดเชียงใหม่ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับสาธารณะ และผลักดันนโยบายท้องถิ่น-ประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เครือข่ายนี้เพิ่งเริ่มตั้งขึ้นในปลายปี 2551 และได้ริเริ่มทำกิจกรรมในด้านการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้เป็นหลัก

สมาชิกของเครือข่ายประกอบด้วย มูลนิธิสถาบันพัฒนาชุมชนเมือง / กลุ่มศึกษาเรื่องเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สถาบันพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / โรตารี่เชียงใหม่ / ชมรมจักรยายเชียงใหม่ / มูลนิธิ Heinrich Boelle / Earth Rights / กลุ่มรักบ้านรักเมือง / ภาคีฮักเชียงใหม่ เป็นต้น

สถานที่ติดต่อของเครื่อข่าย คือ มูลนิธิสถาบันพัฒนาชุมชนเมือง, อาคารพุทธสถานชั้น 2, ถนนท่าแพ, ตำบลช้างคลาน, อำเภอเมือง, เชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์: 053 274 817

< กลับไปด้านบน >

เครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิอภาค ซึ่งในประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นองค์กรประสานงาน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในโครงการ “เครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Asian Cities Climate Change Resilience Network – ACCCRN) ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี พ.ศ.2551  โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และเศริมสร้างศักยภาพให้กับเมืองต่างๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ส่วนอีก 3 ประเทศที่เหลือ คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย โดยในช่วงระยะแรกของโครงการ (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2552) จะเป็นการคัดเลือกเมืองที่จะทำโครงการนำร่อง โดยเริ่มจากการสำรวจเมืองขนาดกลางจำนวน 5 เมืองในทุกภูมิภาค คือ เมืองเชียงราย เมืองอุดรธานี เมืองหาดใหญ่ เมืองภูเก็ต และเมืองสมุทรสาคร และหลักจากพิจารณาเมืองทั้งห้าตามเกณฑ์แล้ว ปรากฎว่า มีเมืองที่ได้รับการคัดเลือก 2 เมือง คือ เมืองเชียงราย และเมืองหาดใหญ่ ในการที่จะทำกิจกรรมต่อในระยะที่ 2 ของโครงการ

โครงการระยะที่สองเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพเมือง โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาและประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนั้นก็จะทำการพัฒนายุทธศาสตร์ ตลอดจนมาตรการ และแผนการดำเนินการต่างๆ ของเมืองในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

สนใจเกี่ยวกับเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถชมเว็บไซต์ได้ที่ www.thaicity-climate.org/

< กลับไปด้านบน >