วิเคราะห์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย 2556-59
[20 ธ.ค. 55 กรุงเทพ] สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 – 2559 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้จัดประชุมพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556 – 2559 ที่จัดเตรียมโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยในเอกสารร่างยุทธศาสตร์ได้มีรายละเอียดที่น่าสนใจโดยสรุปได้ดังนี้

 

วิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์คือการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน” ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ 5% ต่อปี เพิ่มมูลค่าสินค้า 10% ต่อปี และสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับไม่น้อยกว่า 8 ชนิดสินค้า ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ (ก) การบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม (ข) การพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (ค) การสร้างความเข้มแข็งด้านการตลาดและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย และ (ง) การบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ไทย

 

ในยุทธศาสตร์แรกเรื่ององค์ความรู้และนวัตกรรม มีกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ (1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์พื้นบ้านและเกษตรอินทรีย์พาณิชย์ (2) ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เกี่ยวข้อง (3) เสริมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ พัฒนาเทคโนโลยีและการผลิต และ (4) สนับสนุนการศึกษาและวิจัยสารอาหารที่มีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค

 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานมีกลยุทธ์ 5 ด้าน คือ (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (2) ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายการผลิต แปรรูป และตลาด (3) เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตเกษตรอินทรีย์ (4) ส่งเสริมเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องให้เกิดความตระหนักในการปรับเปลี่ยนการผลิต และ (5) ส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภคในประเทศ เพื่อเพิ่มการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์

 

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดและมาตรฐาน มีกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ (1) สร้างและบริหารจัดการมาตรฐาน (2) ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายตลาด (3) สร้างอัตลักษณ์และความเชื่อมั่นกับผู้บริโภค

 

และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแบบบูรณาการ มีกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ (1) จัดตั้งองค์กรกลางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (2) พัฒนาระบบสารสนเทศเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละภาคส่วน (3) พัฒนาการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้อง และ (4) ส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชน เป็นผู้นำการพัฒนา ภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุนปัจจัยพื้นฐาน

 

โดยภาพรวม ร่างแผนยุทธศาสตร์นี้แทบจะไม่แตกต่างจากแผนยุทธศาสตร์เดิมอยู่เท่าไหร่นัก เพียงแต่มีการจัดหมวดหมู่ใหม่ (ดูแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2551 – 54 ได้จากข่าว “คลอดแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีีย์”  แต่ก็มีมีความก้าวหน้าที่น่าสนใจในบางด้าน เช่น การยอมรับบทบาทของภาคเอกชนและประชาชนเป็นผู้นำในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ในขณะที่ภาครัฐควรทำหน้าที่ในการสนับสนุน หรือการให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ ผ่านทางการประชาสัมพันธ์ การสร้างอัตลักษณ์และความเชื่อมั่น การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้บริโภค รวมทั้งการศึกษาวิจัยคุณค่าทางสารอาหารของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ (แต่ทั้งนี้ ดูเหมือนกลยุทธ์ 4 – 5 ข้อนี้กระจายอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน ทำให้ไม่แน่ใจว่า การทำงานจะมีการบูรณาการกันได้เป็นจริงมากน้อยเพียงใด)

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในภาพรวมอาจจะดูดี แต่ปัญหามักจะอยู่ในรายละเอียด  ในเอกสารร่างยุทธศาสตร์นี้ ได้กล่าวถึงรายละเอียดแนวทางการดำเนินงานหลายเรื่อง ซึ่งควรต้องมีการทบทวนและพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะไม่น่าจะใช่แนวทางในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่เป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ หรือบางเรื่องก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาอีกหลายเรื่องตามมา เช่น

  • แนวทางการส่งเสริมโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ฉางข้าว และโรงสีในระดับชุมชน ซึ่งเคยเป็นโครงการที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการแล้ว และไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกิดการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางได้อีกด้วย
  • การจัดทำเขตเศรษฐกิจ (zoning) สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์
  • มีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ มีการปลอมแปลง บิดเบือนฉลากสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นดาบสองคม โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดเกณฑ์คุณภาพของสินค้า ซึ่งมักจะเป็นเกณฑ์ที่ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยเสียเปรียบ
  • ส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ