มิติใหม่ของข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์
ในการประชุมระหว่างประเทศ ที่จัดโดย GOMA ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2555 ที่เมือง Nuremberg ประเทศเยอรมัน เพื่อนำเสนอผลงานและความก้าวหน้าในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คนจากทั่วโลก ทั้งตัวแทนหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ เกษตรกร และหน่วยงานวิชาการ รวมทั้งวิทยากรที่เป็นบุคคลสำคัญในวงการเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่างๆ เช่น Mr. Harsha V. Singh รองผู้อำนวยการ องค์กรการค้าโลก Mr. Guillermo Valles ผู้อำนวยการฝ่าย International Trade in Goods and Services, and Commodities อังถัด Mr. Franz Fisher อดีตกรรมธิการฝ่ายเกษตร การพัฒนชนบท และประมง สหภาพยุโรป Mr. Jean-Francois Hulot หัวหน้าหน่วยเกษตรอินทรีย์ กรรมาธิการสหภาพยุโรป Mr. Miles McEvoy รองผู้บริหาร National Organic Program กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา Mr. Michael R. Saumur ผู้จัดการสำนักงานเกษตรอินทรีย์แคนาดา และ Ms. Kathleen Merrigan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา

ประเด็นสำคัญของการประชุมระหว่างประเทศครั้งนี้ก็คือ การยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ได้เปลี่ยนจากการทำข้อกำหนดให้เหมือนกัน (compliance) เป็นการยอมรับความแตกต่างที่ทัดเทียมกัน (equivalence) ซึ่งข้อตกลงทวิภาคีในปัจจุบัน (รวมทั้งที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา) ของประเทศคู่ค้าเกษตรอินทรีย์สำคัญๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นข้อตกลงที่อยู่ภายใต้แนวคิดที่ยอมรับความทัดเทียมกันของมาตรฐานและระบบการตรวจรับรอง ซึ่งทำให้การยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองของประเทศต่างๆ เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น  นอกจากนี้ ความพยายามรวมกลุ่มกันในการขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าเกษตรอินทรีย์ภายในภูมิภาค ก็ได้รับความสนใจในหลายภูมิภาค เช่น ภูมิภาคแปซิฟิค เอเชีย อาฟริกาตะวันออก และอเมริกากลาง ซึ่งมาตรฐานระดับภูมิภาคนี้อาจเป็นฐานในการเจรจาระหว่างประเทศ ในการยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองในอนาคตได้ด้วย

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความยอมรับของมาตรฐานและการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งในความร่วมมือดังกล่าว กุญแจของความสำเร็จก็คือ การสื่อสารข้อมูล (communication) เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน ความโปร่งใสในกระบวนการทำงานร่วมกัน (transparency) และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างทัดเทียม (stakeholder participations)

นายวิฑูรย์ ปัญญากุล (ในฐานะตัวแทนของกรีนเนท) ได้ร่วมในการอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทของผู้ผลิตรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาในการค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของประเทศต่างๆ ว่า ทำให้ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ต้องแบกภาระในการขอการรับรองหลายมาตรฐาน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังทำให้เกิดความซับซ้อนของการจัดการห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ต่างมาตรฐานกัน เพราะถ้าเกิดการปะปนกันของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ต่างมาตรฐานก็จะทำให้ผลผลิตนั้นเสียสถานะความเป็นเกษตรอินทรีย์ไปเลย รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบเอกสารในการตรวจรับรอง ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในหลายกรณีแทบจะไม่ได้มีความจำเป็นเท่าไหร่นัก