ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559

คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559 ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ แล้วเสร็จเบื้องต้นเมื่อต้นเดือนเมษายน 2556 และอยู่ในระหว่างการส่งแจ้งเวียนให้คณะอนุกรรมาการเพื่อพิจารณา

 

กรีนเนทไม่เห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2556-2559 เพราะ
(1)    ยังคงเป็นขับเคลื่อนโดยภาครัฐ ไม่ใช่โดยภาคประชาสังคมและภาคเอกชน
(2)    ไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาในการดำเนินงานที่ผ่านมาที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังทำแบบเดิมๆ อยู่
(3)    การกำหนดเป้าหมายที่ต่ำ ซึ่งแทบจะไม่จำเป็นต้องทำแผนเกษตรอินทรีย์ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้อยู่แล้ว
(4)    การกำหนดกลยุทธและแนวทางดำเนินงานไม่มีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ทำให้กระจัดกระจาย ไม่เกิดแรงขับเคลื่อน และเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ
(5)    การกำหนดแนวทางดำเนินงานและแผนปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ

_____________________

(1) รากฐานของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศไทยหรือในต่างประเทศเกิดขึ้นโดยภาคประชาสัมคมและภาคธุรกิจเอกชน ในขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุน แต่ในร่างยุทธศาสตร์นี้กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ดังที่กรอบคิดและหลักการ ในข้อ 5.2 ที่ระบุว่า “การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่เน้นตลาดภายในประเทศ โดยรัฐสนับสนุน ….” หรือ “… การพัฒนาเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบเพื่อการส่งออก โดยเน้นการเทียบเคียงมาตรฐาน (โดยภาครัฐ) …”

แม้ว่าในเอกสารของแผนยุทธศาสตร์ฯ จะกำหนดว่าภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน/อำนวยความสะดวก แต่ถ้าอ่านนัยที่อยู่ระหว่างบรรทัดของแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ จะเห็นว่า ภาครัฐยังคงมองการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จากแง่มุมของตัวเอง และกำหนดบทบาทของตัวเองเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งทำให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเป็นเพียง “ผู้รอรับการสนับสนุน”

การมองบทบาทภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นแนวคิดที่ไม่เอื้อตามการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม แต่จะทำให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนไทยอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

(2) ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์หลายอย่างแทบไม่แตกต่างจากแผนที่ผ่านมา แต่ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้แผนเดิมไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้มีการนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานใหม่ ทำให้มีแนวโน้มที่แผนจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดิม  ยกตัวอย่างเช่น (ตัวอย่างข้างล่างนี้ ได้มาจากปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ฉบับก่อน ที่ได้วิเคราะห์ไว้โดยคณะอนุกรรมการฯ)
(ก) องค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ไม่เพียงพอ และไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งในแผนใหม่ยังคงมีการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้อยู่ แต่ไม่ได้มีแนวทางอะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาองค์ความรู้ไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์อย่างไร
(ข) ระบบฐานข้อมูลมีจำกัดอีกทั้งเข้าถึงได้ยาก ซึ่งในแผนใหม่ไม่ได้มีแนวทางอะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
(ค) การปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์มีขั้นตอนการจัดการและกระบวนการผลิตที่ ยุ่งยาก ซึ่งในแผนใหม่ไม่ได้มีแนวทางอะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
(ง) ระบบการรับรองของสินค้าเกษตรอินทรีย์ของรัฐแยกตามรายผลิตภัณฑ์/หน่วยงาน ซึ่งในแผนใหม่ก็ไม่ได้กำหนดแนวทางอะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หนำซ้ำในโครงการที่หน่วยงานต่างๆ นำ เสนอ ก็ยังคงเตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการตรวจรับรองมาตรฐานแยกตามราย ผลิตภัณฑ์/สินค้าและหน่วยงานเหมือนเดิม
(จ) การพัฒนาและขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ยังไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างมีเอกภาพ ซึ่งในแผนใหม่ไม่ได้มีแนวทางอะไรที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

(3) การกำหนดเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์นี้ต่ำมาก ซึ่งแทบจะไม่จำเป็นต้องทำแผนเกษตรอินทรีย์ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้อยู่แล้ว  โดยถ้าดูจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรอินทรีย์ไทยเติบโตเฉลี่ย 49.51% (และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตเฉลี่ย 13.73%) ซึ่งการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นแทบจะไม่ได้เกิดขึ้นผลการดำเนินงานของภาครัฐอยู่แล้ว  ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายการขยายตัวเพียง 10% จึงน่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไร

นอกจากนี้ ถ้าวิเคราะห์ในเชิงประสิทธิภาพของงบประมาณแล้ว แทบจะไม่มีความเหมาะสมอย่างสิ้นเชิง เพราะในขณะที่มีแผนงานที่จะใช้งบประมาณ 5069 ล้านบาทใน 4 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 1267.25 ล้านบาท
* การกำหนดเป้าหมายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี (ปัจจุบัน 212,995 ไร่) เท่ากับจะต้องมีการลงทุน 59,496 บาท/ไร่ หรือ 1.77 ล้านบาท/ครอบครัว (เกษตรอินทรีย์ไทยมีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยรายละ 29.86 ไร่) ซึ่งน่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพมาก
* มูลค่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไทยในปัจจุบันมีมูลค่าเพียง 1,752.10 ล้านบาท/ปี ในขณะที่แผน ยุทธศาสตร์เตรียมจะลงทุนปีละ 1,267.25 ล้านบาท/ปี (คิดเป็น 72% ของมูลค่าผลผลิต) การกำหนดเป้าหมายการขยายสินค้าเกษตรอินทรีย์ 10% จึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง

(4) การกำหนดกลยุทธและแนวทางดำเนินงานไม่มีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ทำให้กระจัดกระจาย ไม่เกิดแรงขับเคลื่อน และเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ
ในร่างยุทธศาสตร์ มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก 12 กลยุทธ์ และ 64 แนวทางการดำเนินงาน โดยไม่ได้มีการกำหนดความสำคัญเร่งด่วนของกลยุทธ์และการดำเนินงานแต่อย่างใด ในขณะที่ หน่วยงานภาครัฐ (ไม่มีหน่ยงานเอกชนได้รับอนุญาตให้ของบประมาณในส่วนนี้) จัดทำโครงการตามความคิดของแต่ละหน่วยงาน (ซึ่งแทบจะไม่มีการบูรณาการในการวางแผน) มีหลายกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงาน ที่ไม่มีการจัดทำโครงการอะไรมารองรับแต่อย่างใดทั้งสิ้น และมีบางกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานที่มีโครงการจำนวนมาก (เช่น กลยุทธการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องมีโครงการรองรับ 21 โครงการ หรือการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาความรู้มีโครงการรองรับ 16 โครงการ ในขณะที่กลยุทธ์การจัดตั้งองค์กรกลางด้าเกษตรอินทรีย์ ไม่มีโครงการใดมารองรับเลย  หรือกลยุทธ์การส่งเสริมให้ภาคเอกชน ประชาชนเป็นผู้นำการพัฒนา ภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุนปัจจัยพื้นฐาน มีโครงการรองรับเพียงโครงการเดียวเท่านั้น)

(5) การกำหนดแนวทางดำเนินงานและแผนปฏิบัติการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
(ก) มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้มีสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ระดับชุมชน ซึ่งโครงการเช่นนี้ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อีกทั้งปัญหาข้อจำกัดของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรไทยไม่ได้อยู่ที่การไม่มีโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ในท้องถิ่นแต่อย่างใดทั้งสิ้น
(ข) เช่นเดียวกัน ในเกือบทุกพื้นที่ มี ฉาง ห้องเย็น หรือโรงสีข้าวชุมชน อยู่มากมาย จนเกินความต้องการแล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นในการลงทุนเรื่องนี้เพิ่มขึ้นอีก
(ค) การจัดทำเขตเกษตรอินทรีย์ (zoning) ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แต่ อย่างใด เพราะไม่สามารถกำหนดโซนได้จริงในทางปฏิบัติ และถึงแม้จะกำหนดได้ ก็ไม่สามารถ กำหนดให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวทำเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด แนวทางนี้จึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ