ข้าวเกษตรอินทรีย์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสูงสุด: ความจริงที่ยังไม่ครบ

ปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูกพืชมีอยู่ 6 ปัจจัยสำคัญ คือ (1) ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ (2) การจัดการน้ำในแปลงเพาะปลูก (3) การจัดการอินทรียวัตถุในไร่นา (4) การจัดการหน้าดิน โดยเฉพาะการไถพรวน (5) การใช้พลังงานฟอสซิลในแปลง และ (6) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินก่อนหน้า

“นาข้าวเกษตรอินทรีย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด” ความจริงที่ไม่ครบทุกด้าน
ความแตกต่างที่สำคัญในการทำนาเกษตรอินทรีย์และนาทั่วไป (ที่ใช้สารเคมีการเกษตร) ที่มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ
* การใช้ปุ๋ย ซึ่งเกษตรอินทรีย์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้มีอินทรียวัตถุในแปลงนาเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น (จากการที่จุลินทรีย์ย่อยอินทรียวัตถุดังกล่าว)
* การจัดการอินทรียวัตถุ ซึ่งในระบบเกษตรอินทรีย์จะไม่เผาทำลายตอซังข้าว ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ในขณะเดียวกัน การมีอินทรีย์วัตถุที่มากขึ้นก็จะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นด้วย
* ในแปลงนาเกษตรอินทรีย์ อินทรียวัตถุที่ถูกย่อยจะกลายเป็นฮิวมัสที่สะสมอยู่ในดิน ซึ่งทำให้นาอินทรีย์มีการตรึงและเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น ถ้าจะดูแค่ว่า นาข้าวเกษตรอินทรีย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก็อาจจะจริง  ที่ใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะเป็นการวิเคราะห์ทางทฤษฏี การเก็บข้อมูลทั้งระบบยังมีอยู่น้อยมาก โดยเฉพาะข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแปลงนาจริง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลในประเทศไทยเพียง 1 – 2 งานวิจัยเท่านั้น

แต่ที่ว่าความจริงยังไม่ครบถ้วน ก็เพราะว่า จะต้องนำคาร์บอนถูกตรึงและเก็บกักคาร์บอนในแปลงนาเกษตรอินทรีย์มาคำนวณด้วย  เหมือนกับที่เราไม่ควรพิจารณาเฉพาะรายได้โดยรวม แต่ต้องนำรายจ่ายมาหักลบ เพื่อดูว่า รายได้สุทธิคือเท่าไหร่แน่

นอกจากนี้ ในทางวิชาการแล้ว ก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่า เหตุปัจจัยของโลกร้อนจริงๆ นั้นน่าจะอยู่ที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (61.4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากป่าธรรมชาติ (18.2%) ไม่ใช่จากภาคการเกษตร (13.5%) เพราะก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเกษตรเป็น “คาร์บอนหมุนเวียน” ที่อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินมาใช้เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้าใช้มุมมองในแง่นี้ ปัญหาการใช้สารเคมีการเกษตร (ซึ่งในกระบวนการผลิตต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล) น่าจะเป็นปัญหาหลักที่ต้องจัดการแก้ไข ไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุ

ส่วนความเชื่อว่า “นาข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด” ก็ไม่จริงเช่นกัน
มีงานวิจัยหลายงาน (ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ) ที่แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินมีเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ดังเช่นงานวิจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบราซิลและอาร์เจนตินา [2] พบว่า ถั่วเหลืองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ 0.1 – 16.5 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (kg CO2-e) ในขณะที่ข้าวเปลือก 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 0.86 – 2.00 กิโลกรัมเทียบเท่าฯ [3] ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้ถั่วเหลืองในลาตินอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากก็เพราะเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่ามาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งในแง่นี้ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนภูเขาในภาคเหนือ ที่เคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อน ก็น่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยไปกว่าการปลูกถั่วเหลืองในลาตินอเมริกา

________________
[1] Kirby, A.; Stuhlberger, C.; and Heberlein, C. (2009), Climate in Peril : A Popular Guide to the Latest
IPCC Reports, Arendal Maps & Graphics Library, UNEP/GRID, Arendal.
[2] Castanheira, É.G., Freire, F.(2011). “LC GHG Assessment of soybeans.”  LCM 2011 – Towards Life Cycle Sustainability Management. Berlin.
[3] ส่วนวิจัยเศรษฐกิจทรัพยากรการเกษตร, การจัการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว, http://thaipublica.org/wp-content/uploads/2014/09/PPT_การจัการฟาร์มกับการปล่อยก๊าซเรือน.pdf