ยุโรปเตรียมปรับระเบียบเกษตรอินทรีย์ใหม่: บางเรื่องจะยากขึ้น บางเรื่องจะง่ายขึ้น
กฎระเบียบของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการผลิต-แปรรูป-นำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ปัจจุบัน (Regulation (EC) No 834/2007 and its implementing Regulations (EC) No 889/2008 and No 1235/2008) ซึ่งได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551  คณะกรรมการสหภาพยุโรปได้เริ่มทำการทบทวนและได้จัดทำระเบียบใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งได้ประกาศระเบียบใหม่นี้ในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ 1 มราคม 2564 เป็นต้นไป

หลักการและเป้าหมายที่เพิ่มเติมของระเบียบใหม่ คือ
* กระตุ้นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าออร์แกนิคที่สั้นลง (ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค)
* ให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกับการจัดการฟาร์ม “ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม” “ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินในระยะยาว” และ “ความหลากหลายทางชีวภาพ”
* ห้ามส่วนผสม/ส่วนประกอบในอาหารที่เป็น “สารจากวัตถุนาโน”

ข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงที่อาจมีผลต่อผู้ประกอบการในประเทศไทย
* หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์นอกสหภาพยุโรป ที่ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยตรวจรับรอง ภายใต้ระบบ “มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ทัดเทียม” จะถูกยกเลิก และปรับให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในสหภาพยุโรป แต่อาจมีข้อยกเว้นให้สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารอินทรีย์ และมีการใช้ในเกษตรอินทรีย์พื้นบ้านมานานแล้ว
* ในปัจจุบันการตรวจรับรองแบบกลุ่ม (group certification) อนุญาตให้ใช้การตรวจรับรองแบบนี้เฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา  ในอนาคต จะอนุญาตให้ใช้ได้ทั้งในประเทกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว (ตรวจรับรองในยุโรป สหรัฐอเมริกาได้)
* ระบบการปลูก “ที่สัมพันธ์กับผืนดิน” มากขึ้น โดยที่ผ่านมา มีข้อยกเว้นให้กับแปลงปลูกที่อยู่บนพื้น/บล็อคปูน แต่ในระบบใหม่ จะไม่อนุญาตให้ผู้ผลิตรายใหม่ปลูกพืชในบล็อคปูนได้อีก ส่วนรายเก่า จะมีเวลาผ่อนปรนให้ 10 ปี  ส่วนการเพาะพืชงอก ที่เพาะโดยไม่ได้ใช้ดินอยู่แล้ว ยังคงอนุญาตให้ทำได้ตามปกติ
* ในการแปรรูป มาตรฐานใหม่จะเข้มงวดมากขึ้นว่าในการใช้ส่วนประกอบที่เป็นสารแต่งรส/กลิ่นที่เป็นสารธรรมชาติ  ปัจจุบัน ถ้าเป็นสารธรรมชาติจะอนุญาตให้ใช้ได้ทั้งหมด แต่ในอนาคต เฉพาะสารธรรมชาติบางอย่างเท่านั้นที่จะให้ใช้
* จะมีการกำหนดสารที่ใช้ในการทำความสะอาดวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งข้อจำกัดในการใช้
* ในระบบใหม่ มีข้อกำหนดที่ยืดหยุ่นขึ้นสำหรับการตรวจฟาร์ม ที่มีความเสี่ยงต่ำ หน่วยตรวจรับรองอาจไม่จำเป็นต้องตรวจฟาร์มทุกปี แต่อาจตรวจปีเว้นปีได้  ในขณะที่ฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง จะมีการตรวจที่เข้มงวดขึ้น
* ผู้ประกอบารการที่ขายสินค้าออร์แกนิคที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์พร้อมจำหน่ายแล้ว (pre-packaged organic products) ไม่จำเป็นต้องขอตรวจรับรองอีกต่อไป
* ผู้ผลิตรายเล็ก ที่ขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์โดยตรงให้กับผู้บริโภค โดยมีปริมาณไม่มากนัก อาจไม่จำเป็นต้องขอรับการตรวจรับรองอีกต่อไป

อ่านบทวิเคราะห์ของ IFOAM EU Group “The new EU organic regulation, what will change? (14 June 2018)” ได้ที่ link

หรือดาวน์โหลดระเบียบใหม่ได้ที่ link